อัมพาต 360 องศา: ตอน เมื่อมีอาการสงสัยเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ ควรทำอย่างไร

อัมพาต  360 องศา

สิ่งที่พบเป็นปัญหาบ่อย ๆ ในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาต คือ อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลต่างๆ นั้น คือ ผู้ป่วยยังมาพบแพทย์ล่าช้ากว่า 270 นาที หรือเลยระยะเวลานาทีทองของการรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาต เพราะไม่มั่นใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ เมื่อไม่มั่นใจก็เลยไม่มาหาแพทย์ที่โรงพยาบาล มักจะใช้วิธีสังเกตุอาการหรือปรึกษาคนที่รู้จัก หาข้อมูลจากสื่อต่างๆ ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนทราบถึงแนวทางดูแลตนเอง กรณีที่ไม่มั่นใจว่าอาการผิดปกตินั้นเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ ดังนี้

ขั้นตอนแรกให้ดูว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการอะไรกันแน่ เช่น วิงเวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะ อ่อนแรงหรือชาหรือปวด เพราะบางครั้งผู้ป่วยก็สับสนระหว่างอาการผิดปกติ ก็ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ ดังนั้นเราต้องตั้งสติให้ดีและค่อยๆ คิดให้ดีว่าอาการที่ผิดปกตินั้น คือ อาการอะไรกันแน่

ขั้นตอนที่สอง ต้องดูให้ดีว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพิ่งเป็นหรือเป็นมานานหลายวันแล้ว อาการของโรคอัมพาตต้องเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ค่อยๆ เป็น หรือใช้เวลามีอาการผิดปกติมาหลายๆ วัน

ขั้นตอนที่สาม มีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ ถ้าสูงอายุ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ สูบบุหรี่ อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาทก็มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตสูง

ขั้นตอนที่สี่ อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยของโรคอัมพาต คือ ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท แขน ขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก ถ้ามีอาการดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นอาการของโรคอัมพาตได้สูง ยิ่งมีหลายอาการก็ยิ่งมีโอกาสสูง

ขั้นตอนที่ห้า ถ้ามั่นใจแล้วว่าเป็นอาการของโรคอัมพาตแน่ๆ ก็ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที โดยการมาโรงพยาบาลเองหรือโทรศัพท์ 1669 หรือหมายเลขโทรศัพท์โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ถ้ามีลูก หลานหรือญาติก็ให้มาด้วยกันพร้อมกัน แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าใช่อาการของโรคอัมพาตหรือไม่ ก็ให้เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ไม่แนะนำคือการสังเกตุอาการว่าจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น พออาการทรุดลงจึงค่อยมาโรงพยาบาล การรอพบแพทย์ที่คลินิก การบีบนวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การทานยาเพื่อแก้ไขอาการผิดปกติ

โปรดจำไว้ว่า ไม่ว่าท่านมีอาการผิดปกติอะไรก็ตาม ถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นอาการของโรคอัมพาตหรือไม่ ให้รีบไปโรงพยาบาล อย่ารอช้า เพื่อดูอาการ เพราะถ้ามาช้าโอกาสหายเป็นปกติจะลดลงไปเรื่อยๆ “ ทุกนาที คือ ชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”