อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) จัดอยู่ในยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) ถือเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลาย มักเกิดความเข้าใจผิดมากพอสมควร เพราะหลายครั้งผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด/โรคหวัด จะเรียกหาอะมอกซิซิลลินกินแก้เจ็บคอ แต่ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส อะมอกซิซิลลินฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ดังนั้นเป็นไข้หวัดยังไม่ต้องใช้อะมอกซิซิลลิน

ยาอะโมซิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะมอกซิซิลลิน

ยาอะมอกซิซิลลินมีสรรพคุณรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายโรค เช่น การติดเชื้อในช่องปาก คอ ปอด (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) หูชั้นกลาง (หูติดเชื้อ/หูน้ำหนวก) หลอดลม (หลอดลมอักเสบ) และ ระบบทางเดินอาหาร (ลำไส้อักเสบ)

ยาอะมอกซิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมอกซิซิลลินคือ ยาไปทำลายผนังเซลของเชื้อโรคทำให้เชื้อโรคตาย ทั้งนี้เส้นทางที่นำยาไปฆ่าเชื้อโรคได้คือ เลือดในร่างกายของเรานั่นเอง โดยระดับยาในเลือดที่มีความเข้มข้นถึงจุดที่ฆ่าเชื้อโรคได้ จะยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งต้องได้รับยาที่ถูกขนาดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่เพียงพอการรักษาจึงได้ผลดี

ยาอะมอกซิซิลลินสามารถรับประทานก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ ถือเป็นข้อดีและความสะดวกในการใช้ยาตัวนี้

ยาอะมอกซิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาอะมอกซิซิลลินคือ

  • แคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
  • ชนิดเม็ด ขนาด 500 และ 875 มิลลิกรัม
  • ชนิดผงละลายน้ำ 125, 200, 250 และ 400 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 250, 500 และ 1,000 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเช่น ยาในท้องตลาดที่มีชื่อการค้าเช่น ออกเมนติน (Augmentin), อะมอกซิคราฟ (Amoksiklav)

ยาอะมอกซิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยาอะมอกซิซิลลินนี้ใช้รักษาโรคต่างๆหลายโรคอาทิเช่น โรคโกโนเรีย (แบบที่ไม่รุนแรงมาก) โรคเหงือกบวม โรคติดเชื้อเอช ไพโลริ หรืออาจออกเสียงว่า เอช ไพโลไร (H. pylori) ของกระเพาะอาหาร และใช้ป้องกันการติดเชื้อจากการรักษาฟันเช่น หลังถอนฟัน ซึ่งในแต่ละกลุ่มของโรค มีวิธีกินยาและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรง ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะมอกซิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยาเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมอกซิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะมอกซิซิลลินสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาอะมอกซิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาอะมอกซิซิลลินคือ อาจทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?

ระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินกับผู้ที่แพ้ยา (การแพ้ยา) กลุ่มเพนิซิลลิน ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ ป่วยโรคตับโรคไต และหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้ไม่ควรซื้อยารับประ ทานเอง ควรต้องได้รับคำแนะนำและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น นอกจากนั้นคือห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะมอกซิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอะมอกซิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาอะมอกซิซิลลินกับยาตัวอื่นที่พบบ่อยคือ

  • การกินร่วมกับยารักษาโรคเก๊าท์อาจก่อให้เกิดผื่นคันตามร่างกายและอาจลุกลามถึงขั้นรุนแรง ซึ่งยารักษาโรคเก๊าท์เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • การกินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจึงอาจตั้งครรภ์ได้ ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น ยาไดเนสตรอล (Dienestrol) ยาไดอีธิลสติลเบสทรอล (Diethylstilboestrol) และยาสติลเบสทรอล (Stilboestrol)

ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?

การเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินในทุกรูปแบบบรรจุ ให้เก็บในที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสงแดด อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ยาผงสำหรับเด็กที่ละลายน้ำแล้วจะต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อชะลอความเสื่อมของยา แต่ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอะมอกซิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นๆทางการค้าของยาอะมอกซิซิลลิน และบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amacin (อะมาซิน) Asian Pharm
AMK (เอเอ็มเค) R.X.
Amoksiklav (อะมอกซิคลาฟ) Lek
Amoksiklav GPO GPO
Amox Sus - 250 (อะบอก ซุส) Utopian
Amoxi T.O (อะมอกซิ) T.O. Chemicals
Amoxil (อะมอกซิล) Glaxo SmithKline
Amoxin (อะมอกซิน) Inpac Pharma
Amoxlin (อะมอกลิน) Utopian
Amoxy (อะมอกซี) Osoth Interlab
Amoxy MH M & H Manufacturing
Amoxycillin TP Drug (อะมอกซีซิลลิน) T.P. Drug
Amoxycillin Utopian Utopian
Asiamox (อะไซอะมอก) Asian Pharm
Augclav (ออกคลาฟ) Pharmahof
Augmentin (ออกเมนติน) Glaxo Smith Kline
Bomox 500 (โบมอก) Millimed
Camox (คามอก) Utopian
Cavumox (คาวูมอก) Siam Bheasach
Clanoxy (คาโนซี) Galpha / Pharmaland
Clavmoxy (คลาฟมอกซี) Great Eastern
Clavomid (คลาโวมิด) Remedica
Curam (คูแรม) Sandoz
GPO Mox GPO
Ibiamox (ไอบิอะมอก) Siam Bheasach
Manclamine (แมนคลามาย) T Man Pharma
Manmox (แมนมอก) T Man Pharma
Manmox supra T Man Pharma
Moxcin (มอกซิน) General Drug House

บรรณานุกรม

1. Antibiotics. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/ [2014,Oct11]
2. Christopher Walsh . (2001). Antibiotics http://books.google.co.th/books [2014,Oct11]
3. Antibacterial http://en.wikipedia.org/wiki/Antibacterial [2014,Oct11]

Updated 2014, Oct 11