อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) เป็นสารอนุพันธุ์ของยาคูมาริน (Coumarin) ที่สามารถต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) หรือจะกล่าวว่ามีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของวิตามินเค (Vitamin K antagonist) เหมือนกับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาอะซีโนคูมารอลถูกวางจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทางคลินิกใช้ยานี้เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ แต่ไม่สามารถใช้เป็นยาละลายลิ่มเลือดได้ รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน และหลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 - 11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทางปัสสาวะ

อาจระบุเงื่อนไขหรือความเหมาะสมของการใช้ยาอะซีโนคูมารอลได้ดังนี้เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) รุนแรงจากยานี้
  • หลีกเลี่ยง/ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีสภาพจิตใจผิดปกติรวมถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อม
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดไขสันหลัง สมอง ตา หรือการผ่าตัดอื่นๆ จะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกตามรอยแผลผ่าตัดได้ง่ายและถือเป็นข้อห้ามใช้ยาอะซีโนคูมารอลกับผู้ป่วยเหล่านี้
  • ผู้ที่กำลังป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้จะได้รับผลกระทบจากยาชนิดนี้อย่างมากโดยยานี้จะกระตุ้นให้เกิดเลือดออกในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย
  • ผู้ป่วยด้วยภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือติดเชื้อในบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ หรือมีความรู้สึกเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ห้ามใช้ยานี้
  • สารสกัดจากน้ำผลไม้บางประเภทอย่างน้ำแครนเบอร์รี่ (Cranberry juice) ถือเป็นข้อห้ามนำมาดื่มร่วมกับยาอะซีโนคูมารอลด้วยมีผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยานี้โดยอาจเพิ่มหรือลดฤทธิ์ของยานี้ได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากประสงค์จะใช้ยาอะซีโนคูมารอลอย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีการติดเชื้อหรือมีแผลอักเสบ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่มีอาการบวมของร่างกายและมีภาวะหายใจติดขัด/หายใจลำบาก ผู้ป่วยด้วยโรคตับโรคไต ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้สูงอายุ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้ควรหลีกเลี่ยงการถูกของมีคม การบาดเจ็บที่ทำให้เกิดแผล รวมถึงการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือการทำหัตถการทางการแพทย์ต่างๆอย่างเช่น การถอนฟัน การฉีดยาเข้าไขกระดูก การผ่าตัดต่างๆ เพราะจะทำให้มีเลือดออกตามรอยบาดแผลได้ง่าย

นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับยาแผนปัจจุบันชนิดต่างๆก็สามารถเกิดผลกระทบเมื่อมีการใช้ยาเหล่านั้น ร่วมกันกับยาอะซีโนคูมารอลอย่างเช่น

  • ยาลดไข้อย่าง Paracetamol, ยากลุ่ม NSAIDs เช่น Aspirin, Ibuprofen, Celecoxib รวม ถึง Tramadol
  • ยาปฏิชีวนะอย่าง Rifampicin, Amoxicillin และ Metronidazole
  • ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) เช่น Co-trimoxazole
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) อย่าง Tolbutamide, Chlorpropamide และ Glibenclamide
  • กลุ่มยารักษาโรคเบาหวานเช่น Glucagon
  • ยาโรคไทรอยด์เช่น Levothyroxine
  • ยารักษาโรคเกาต์อย่างเช่น Allopurinol หรือ Sulfinpyrazone
  • ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่น Amiodarone และ Quinidine
  • ยากันชัก/ยาต้านชักเช่น Carbamazepine หรือ Phenytoin
  • ยากลุ่ม H2-antagonists เช่น Cimetidine หรือ Ranitidine
  • ยากลุ่มสแตติน (Statin) เช่น Fenofibrate, Simvastatin หรือ Colestyramine
  • ยาต้านเชื้อราอย่างเช่น Econazole, Ketoconazole และ Griseofulvin
  • ยารักษามะเร็งเต้านมเช่น Tamoxifen
  • และยังมียากลุ่มอื่นๆอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาระบุในบทความนี้ได้หมด

ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่ายาอะซีโนคูมารอลเป็นยาที่มีความจำเพาะเจาะจงสูงในการใช้รักษาโรค การใช้ยานี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต้องอาศัยการตรวจคัดกรองจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามผู้ป่วยไปซื้อยานี้มารับประทานเอง

อะซีโนคูมารอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะซีโนคูมารอล

ยาอะซีโนคูมารอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาและป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด จนเกิดลิ่มเลือด

อะซีโนคูมารอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะซีโนคูมารอลคือ ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารที่เป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือดซึ่งมีวิตามินเคเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างเช่น สารโคแอกกูเลชั่น แฟกเตอร์ (Coagulation factor) 7, 9, และ 10 รวมถึงสารโปรตีน ซี (Protein C) ซึ่งถือเป็นปัจจัยต่อการแข็ง ตัวของเลือดทั้งสิ้น จากกลไกที่กล่าวมาจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะซีโนคูมารอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะซีโนคูมารอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 1 และ 4 มิลลิ กรัม/เม็ด

อะซีโนคูมารอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

โดยทั่วไปยาอะซีโนคูมารอลแพทย์จะกำหนดการรับประทานเพียงวันละครั้งและผู้ป่วยควร รับประทานยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวันตัวอย่างเช่น

  • ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทาน 4 - 12 มิลลิกรัม/วัน, วันที่สองรับประทาน 4 - 8 มิลลิกรัม/วัน, วันถัดมาให้รับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ โดยขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 1 - 8 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง: ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ

  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซีโนคูมารอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีโนคูมารอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะซีโนคูมารอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะซีโนคูมารอลตรงเวลา

อะซีโนคูมารอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะซีโนคูมารอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจพบมีเลือดออกตามเหงือก เกิดเลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิดปกติ กรณีเกิดแผลจะมีเลือดออกมากและใช้เวลานานกว่าปกติเพื่อให้เลือดหยุด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ไอเป็นเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อกระดูก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะรุนแรง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ผมร่วง ผิวหนังเป็นจ้ำแดง
  • ผลต่อหลอดเลือด: เช่น เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบ
  • ผลต่ออวัยวะตับ: ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
  • อื่นๆ: เช่น มีไข้

มีข้อควรระวังการใช้อะซีโนคูมารอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีโนคูมารอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด มาใหม่ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้/แผลเปบติค ผู้ที่มีบาด แผลตามร่างกาย ผู้ป่วยติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยโรคตับโรคไต
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาอะซีโนคูมารอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้ง ให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะซีโนคูมารอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะซีโนคูมารอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาอะซีโนคูมารอลร่วมกับยาบางกลุ่มอย่างเช่น NSAIDs, Amiodarone, Co-trimoxa zole, Cephalosporins, Erythromycin อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากอะซีโนคูมารอลได้มากขึ้นเช่น มีภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยง การใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะซีโนคูมารอลร่วมกับยา Levofloxacin อาจทำให้ไตของผู้ป่วยทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะซีโนคูมารอลร่วมกับยา Carbamazepine สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาอะซีโนคูมารอลในเลือดลดลงจนส่งผลต่อการรักษา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอะซีโนคูมารอลอย่างไร?

ควรเก็บยาอะซีโนคูมารอลในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะซีโนคูมารอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะซีโนคูมารอลที่จำหน่ายในประเทสไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SINTHROME (ซินโทรม) Novartis

อนึ่งยาชื่อการค้าของยาอะซีโนคูมารอลที่จำหน่ายในยุโรปเช่น Sintrom, Sintrom mitis, และจากประเทศอินเดียเช่น Acitrom

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Acenocoumarol [2016,May28]
  2. http://www.drugs.com/uk/acenocoumarol-1mg-tablets-leaflet.html [2016,May28]
  3. http://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/630774.pdf [2016,May28]
  4. http://patient.info/medicine/acenocoumarol-an-anticoagulant-sinthrome [2016,May28]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/acenocoumarol/?type=brief&mtype=generic [2016,May28]
  6. http://www.medbroadcast.com/Drug/GetDrug/Sintrom [2016,May28]
  7. http://www.renalandurologynews.com/nephrology/worrisome-drug-interaction-for-acenocoumarol-levofloxacin/article/459587/ [2016,May28]
  8. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01418 [2016,May28]