ออกซิโคโดน (Oxycodone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาออกซิโคโดน (Oxycodone)คือยาที่เป็นสารกึ่งสังเคราะห์จากสารต้นแบบที่มีชื่อว่า Thebaine ที่จัดเป็นสารอยู่ในประเภท Opioid alkaloid (สารในกลุ่มฝิ่น/ โอปิออยด์) ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่สมองช่วยระงับความเจ็บปวดระดับปานกลางจนกระทั่งถึงอาการเจ็บปวดระดับรุนแรง

ออกซิโคโดนถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) รูปแบบของยาแผนปัจจุบันจะถูกพัฒนาเป็นยาเดี่ยวชนิดรับประทานและยาฉีด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเป็นยาผสมร่วมกับยาอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาเช่น การนำยาออกซิโคโดนไปผสมกับยา Acetamino phen หรือบางสูตรตำรับได้นำออกซิโคโดนไปผสมร่วมกับยา Naloxone เพื่อลดพิษและลดอาการติดยาของออกซิโคโดนอีกด้วย

ยาออกซิโคโดนสามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารประมาณ 60 - 87% และ*สามารถซึมผ่านรกและเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมา โปรตีนประมาณ 45% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาออกซิโคโดนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก

ข้อจำกัดของการใช้ยาออกซิโคโดน นอกจากเรื่องการแพ้ยาแล้ว ยังมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด, ผู้ป่วยทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง ลำไส้อุดตัน), ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด, อีกทั้งมีระยะเวลาของการใช้ยาที่เป็นเงื่อนไขสำคัญและช่วยป้องกันมิให้ผู้ป่วยเกิดอาการติดยา, จากเงื่อนไขที่กล่าวมาการใช้ยาออกซิโคโดนจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ออกซิโคโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ออกซิโคโดน

ยาออกซิโคโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • เป็นยาบรรเทาอาการปวดขั้นปานกลางจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรง

ออกซิโคโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกซิโคโดนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Opiate receptors เป็นเหตุให้เกิดการยับยั้งกระแสประสาทของความรู้สึกเจ็บปวด หรือเป็นการกดการสั่งงานของสมองนั่นเอง จากกลไกที่กล่าวมาจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ออกซิโคโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซิโคโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 10 และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10, 15, 20, 30, 40, 60, 80, 120 และ 160 มิลลิกรัม /เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยา Naloxone เช่น Naloxone hydrochloride 5 มิลลิ กรัม + Oxycodone hydrochloride 10 มิลลิกรัม

ออกซิโคโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออกซิโคโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 5 - 15 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง, หากเป็นยาที่มีรูปแบบออก ฤทธิ์เนิ่นนาน/ยาวนานหรือประเภทค่อยๆปลดปล่อยตัวยา (Extended release tablet) ให้รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง, ซึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้, และหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง, ห้ามเคี้ยวยา, ให้กลืนยานี้พร้อมน้ำดื่มในปริมาณที่มากเพียงพอ
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยานี้มีผลข้างเคียงที่อันตราย การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซิโคโดน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซิโคโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออกซิโคโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ออกซิโคโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซิโคโดนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
  • ประสาทหลอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ติดยา
  • อาการ แพ้ยานี้
  • คลื่นไส้
  • ท้องผูก
  • อาเจียน
  • ปวดหัว
  • มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
  • นอนไม่หลับ
  • วิงเวียน

*อนึ่ง: สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถพบอาการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก, เกิดภาวะกดการทำงานของสมอง, (เช่น ซึม หายใจเบา ช้า) ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การแก้ไขโดยแพทย์จะรักษาและปรับระบบหายใจของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว แพทย์สามารถใช้ยา Naloxone ในการต่อต้านพิษของยาออกซิโคโดนได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

มีข้อควรระวังการใช้ออกซิโคโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซิโคโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยลำไส้อุดตัน ผู้ ป่วยที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria: โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติในการทำงานของเม็ดเลือดแดง)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรค/ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินน้ำดี
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ขนาดรับประทานยานี้ ควรเริ่มในขนาดต่ำๆที่สามารถรักษาอาการปวดของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะดื้อต่อยา และอาการติดยาของผู้ป่วยเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซิโคโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกซิโคโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกซิโคโดน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกซิโคโดน ร่วมกับ ยากลุ่ม TCAs จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของยากลุ่ม TCAs เพิ่มมากขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาTCAs ติดตามมา การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาออกซิโคโดน ร่วมกับ ยา Metoclopramide จะก่อให้เกิดฤทธิ์ในการสงบประสาท หรือทำให้รู้สึกง่วงนอนมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ยาบางกลุ่มสามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาออกซิโคโดน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Rifampicin, Amiodarone, Quinidine, และยากลุ่ม Polycyclic antidepressants (ยาจิตเวชกลุ่มรักษาโรคซึมเศร้า)
  • การใช้ยาออกซิโคโดน ร่วมกับ ยา Bupropion สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะลมชัก โดย เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาออกซิโคโดนในขนาดสูงๆหรือในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะลมชักดังกล่าวจึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาออกซิโคโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาออกซิโคโดน:

  • เก็บยาในอุณหภูมิช่วง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ออกซิโคโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซิโคโดน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
OxyContin (ออกซิคอนติน) Napp Pharmaceuticals Ltd
OxyNorm (ออกซินอร์ม) Napp Pharmaceuticals Ltd
Longtec (ลองเทค) Odem Pharmaceuticals Ltd
Lynlor (ลินเลอร์) Actavis UK Ltd
Reltebon (เรลเทบอน) Actavis UK Ltd
Shortec (ชอร์เทค) Odem Pharmaceuticals Ltd
Targinact (ทาร์จิแน็กท์) Napp Pharmaceuticals Ltd

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/oxycodone.html [2021,May1]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxycodone?mtype=generic [2021,May1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxycodone [2021,May1]
  4. https://www.drugs.com/dosage/oxycodone.html#Usual_Adult_Dose_for_Pain [2021,May1]
  5. https://www.mims.co.uk/Drugs/pain/pain-fever [2021,May1]
  6. https://www.drugs.com/oxycontin-images.html [2021,May1]
  7. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/3507 [2021,May1]
  8. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/o/OxyNormcap.pdf [2021,May1]
  9. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/24099 [2021,May1]
  10. https://www.drugs.com/imprints/onx-10-22277.html [2021,May1]