อย่าเขย่าหนูนะ หนูกลัวจริงๆ (ตอนที่ 2)

อย่าเขย่าหนูนะ-2

เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบคอของทารกยังอ่อนอยู่ จึงยังไม่สามารถพยุงศีรษะที่หนักได้เต็มที่ เมื่อทารกถูกเขย่าไปมา จึงมีผลต่อสมองภายในกระโหลกศีรษะ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดแผลฟกช้ำ บวม และเลือดออก

โดยกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า มีดังนี้

  • เซื่องซึม (Lethargy)
  • หงุดหงิด (Irritability)
  • แข็งเกร็ง (Rigidity)
  • มีปัญหาเรื่องการหายใจ
  • กินนมได้น้อย
  • อาเจียน
  • ไม่ยิ้มหรือส่งเสียง
  • ผิวซีดหรือผิวคล้ำเป็นสีน้ำเงิน (Pale or bluish skin) เพราะขาดออกซิเจน
  • ชัก (Seizures)
  • เป็นอัมพาต (Paralysis)
  • หมดสติ (Coma)

บางครั้งเด็กอาจมีแผลฟกช้ำที่ใบหน้า มีเลือดออกในสมองและตา ไขสันหลังถูกทำลาย กระดูกซี่โครงกะโหลกศีรษะ ขา และกระดูกส่วนอื่นหัก

บางครั้งอาจจะมองไม่เห็นอาการภายนอกในทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไปเด็กอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือพฤติกรรม เช่น อาจไม่สังเกตเห็นจนกว่าเด็กจะเข้าเรียนและมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ ซึ่งถึงเวลานั้นก็ยากที่บอกได้ว่ามีสาเหตุมาจากการเขย่าตัวทารก

กลุ่มอาการทารกถูกเขย่ามักเกิดเมื่อพ่อแม่หรือคนดูแลเด็กมีอารมณ์โกรธหรือโมโห จึงเขย่าตัวเด็กอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตอนที่เด็กไม่ยอมหยุดร้องไห้

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กเขย่าตัวเด็กอย่างรุนแรง ได้แก่

  • คาดหวังจากเด็กในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
  • พ่อแม่ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single parents)
  • พ่อแม่มีปัญหาทางจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum depression)
  • ความเครียด
  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติด
  • ครอบครัวมีปัญหา

ทั้งนี้ จากสถิติกลุ่มอาการทารกถูกเขย่ามักเกิดจากฝีมือของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

แหล่งข้อมูล:

  1. Shaken baby syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shaken-baby-syndrome/symptoms-causes/syc-20366619 [2018, January 3].
  2. Abusive Head Trauma? (Shaken baby syndrome). http://kidshealth.org/en/parents/shaken.html [2018, January 3].
  3. Shaken Baby Syndrome (Abusive Head Trauma). https://www.medicinenet.com/shaken_baby_syndrome_abusive_head_trauma/article.htm [2018, January 3].