อย่าสักแต่ว่า “สัก” (ตอนที่ 2)

อย่าสักแต่ว่าสัก

สำหรับการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก นพ.เวสารัช กล่าวว่า สามารถทำให้ขนาดอนุภาคของสีสักลดลงถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ทำให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แพทย์ปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักในผู้ป่วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ยังไม่ทราบแน่ชัด

นพ.เวสารัช กล่าวในตอนท้ายว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมการสัก เพราะสีที่ใช้สักไม่ถือว่าเป็นยาหรือเครื่องสำอาง การสักจึงไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ การควบคุมทำได้เพียงผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่วนวิธีการตรวจสอบสียังไม่มีมาตรฐานกลาง แต่ไทยเริ่มพยายามสร้างทีมที่มีตัวแทนจากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการสัก

นพ.เวสารัช จึงฝากเตือนผู้ที่ต้องการสักว่า ให้คิดถึงอันตรายจากการสักด้วย เพราะเมื่อสักไปแล้วร้อยละ 5 รู้สึกเสียใจ และหากต้องการลบรอยสักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอันตรายจากการลบรอยสักอาจเกิดขึ้นจากการปล่อยสารมะเร็งและโลหะปนเปื้อนต่างๆ ออกไปในกระแสโลหิต ซึ่งยังไม่มีใครทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจากการลบรอยสัก

การสัก (Tattoo) เป็นการทำลวดลายบนผิวหนังโดยการฉีดสีเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนเครื่องเย็บ (Sewing machine) ที่มีเข็มแทงลงในผิวหนังซ้ำๆ โดยทุกเข็มที่แทงลงไปจะมีการบรรจุหยดหมึกลงไปด้วย การสักที่ไม่ได้มีการใช้ยาชา (Anesthetics) จะรู้สึกเจ็บปวดและมีเลือดออกเล็กน้อย

อาการแทรกซ้อนเบื้องต้นที่เกิดจากการสัก ได้แก่

  • การติดเชื้อ (Infection) เพราะเครื่องมือและเข็มที่ใช้ในการสักโดยปราศจากการฆ่าเชื้อสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้การดูแลความสะอาดของผิวหนังประมาณ 1 สัปดาห์หลังการสัก ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน อย่าง โรคบาดทะยัก (Tetanus) โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และโรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) ดังนั้นธนาคารเลือดของสหรัฐอเมริกาจึงได้วางหลักเกณฑ์ในการบริจาคเลือดว่า ห้ามผู้สักผิวหนังบริจาคเลือดเป็นเวลา 1 ปี หลังการสัก
  • อาการแพ้สีย้อม (Allergic reactions) โดยเฉพาะสีแดง เขียว เหลือง และน้ำเงิน อาจทำให้เกิดปฏิกริยาแพ้ของผิวหนัง เช่น คันบริเวณผิวหนังที่สัก แม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะลบสีออกได้ บางคนอาจเกิดอาการแพ้หลังการสักเป็นปีๆ ก็ได้
  • เกิดก้อนเนื้อที่เรียกว่า แกรนูโลมา (Granulomas) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของเซลล์กับสารที่แปลกปลอมเข้าไป
  • เกิดแผลเป็น (Keloid)
  • บางครั้งการสักก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI) เช่น ทำให้บริเวณรอยสักมีอาการบวม ไหม้ หรือมีผลกระทบต่อการวิเคราะห์ภาพที่ได้จากการทำเอ็มอาร์ไอ

นอกจากนี้สีจากการสักอาจเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งถ้ามีปริมาณมากอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และทำให้การวิเคราะห์มะเร็งผิวหนัง (Melanoma) ทำได้ยาก ทั้งยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง (Carcinoma) การแบ่งเซลล์มากผิดปกติ (Hyperplasia) มีก้อนเนื้อ (Tumours) หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) โรคเคอราโตอะแคนโทมา [Keratoacanthoma เป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรงมีลักษณะเป็นปล่องภูเขาไฟ]

แหล่งข้อมูล

  1. เตือนเลเซอร์ลบรอยสัก ทำอนุภาคสีเล็กลง ปล่อยสารก่อมะเร็ง-โลหะหนักเข้าเลือด. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080142 [2015, August 9].
  2. Tattoos, What You Need to Know. http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=21341 [2015, August 9].
  3. Tattoos: Understand risks and precautions. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/tattoos-and-piercings/art-20045067 [2015, August 1].
  4. Tattoo medical issues. https://en.wikipedia.org/wiki/Tattoo_medical_issues [2015, August 9].