อย่าสักแต่ว่า “สัก” (ตอนที่ 1)

อย่าสักแต่ว่าสัก

นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเป็นที่นิยม บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาในการแต่งหน้า อาทิ สักคิ้วถาวร สักริมฝีปากชมพู เป็นต้น ซึ่งสีที่สักจะไม่อยู่ในบริเวณที่สักนาน ถ้าผ่านไประยะยาวสีจะเหลือเพียงร้อยละ 1 - 13 โดยจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงนอกจากนี้ หลังจากบริเวณที่สักถูกแสงแดด สีอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ซีดลง หรือเปลี่ยนแปลงเป็นสารก่อมะเร็งจากการถูกรังสียูวีเอในแสงแดด

สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังการสักพบได้ร้อยละ 75 แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 เช่น ตกสะเก็ด คัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง เป็นต้น ส่วนอาการทั่วไปพบได้ร้อยละ 7 ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ และปวดเมื่อย ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังพบได้ร้อยละ 6 เช่น แผลเป็น บวมเป็น ๆ หาย ๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น

นพ.เวสารัช ชี้แจงว่า สำหรับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้หลายอย่าง เช่น แพ้บริเวณที่สักทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการแพ้สีที่สัก การติดเชื้อ ทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรียและไมโครแบคทีเรีย เชื้อรา และซิฟิลิส

นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยต้องเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดง บริเวณรอยสัก เนื่องจากสีมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ทั้งนี้ สาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อเกิดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1) สีที่ใช้สัก การปนเปื้อนของสีและน้ำที่มาเจือจางสี 2) เทคนิคการสักที่ไม่ดี 3) สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ 4) เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน และ 5) จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง

นพ.เวสารัช กล่าวต่อว่า สีที่ใช้สักนั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณการใช้ที่น้อยกว่าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น จึงไม่มีการผลิตสีสำหรับการสักโดยตรง แต่เป็นการใช้สีที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น สีเคลีอบรถยนต์ สีที่มาจากหมึกพิมพ์ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อนำมาใช้กับคนจึงไม่มีความปลอดภัย และมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงมาก ตลอดจนโลหะหนักต่าง ๆ โดยเฉพาะนิกเกิลพบในทุกสี ส่วนการสักไม่ถาวรที่เรียกว่า สักเฮนน่า ควรจะใช้เฮนน่าที่มาจากธรรมชาติ แต่มีผู้สักมักง่ายใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร Paraphenylene diamine มาใช้แทน ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นแผลเป็นถาวรได้

นพ.เวสารัช กล่าวอีกว่า สีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด ส่วนประกอบหลัก คือ Carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี ซึ่งมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในคน มีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้สารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังกลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักจะเกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่

แหล่งข้อมูล

  1. เตือนเลเซอร์ลบรอยสัก ทำอนุภาคสีเล็กลง ปล่อยสารก่อมะเร็ง-โลหะหนักเข้าเลือด. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080142 [2015, August 8].