อย่าตกใจ ไข้หวัดหมู (ตอนที่ 5)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ตั้งแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นมา และเชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผลการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ขณะนี้คนไทยเกือบร้อยละ 50 มีภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าวแล้ว ทั้งจากการฉีดวัคซีน และได้รับภูมิต้านทานตามธรรมชาติ ทำให้โอกาสการระบาดใหญ่ของเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทยมีไม่มาก และจากการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดในประเทศขณะนี้ ยังไม่พบความผิดปกติ หรือสัญญาณว่าจะมีโรคระบาดแต่อย่างใด

ตามรายงานของ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ได้มีการผลิตวัคซีนมากกว่า 65 ล้านโด้ส (Dose) ใน 16 ประเทศ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรง สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อ A H1N1 ในไข้หวัดใหญ่สายพันธุ 2009 ได้

WHO เป็นผู้ประสานงานในการระดมทรัพยากรจากนานารัฐบาล มูลนิธิ และผู้ผลิต เพื่อบริจาควัคซีนและอุปกรณ์ประกอบ (Ancillaries) อาทิ กระบอกฉีดยา ให้กับประเทศรับบริจาคจำนวน 77 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศด้อยพัฒนา WHO ได้รับพันธสัญญาการผลิตวัคซีน 200 ล้านโด้ส กระบอกฉีดยา 70 ล้านชิ้น และเงิน 48 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,440 ล้านบาท) สำหรับใช้ในปฏิบัติการต่อสู้กับไข้หวัดหมู (Swine flu)

รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงที่เกิดการระบาด ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการติดเชื้อ A H1N1 เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 นี้มีลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แม้ว่าในภาพรวม ความปลอดภัยของวัคซีนไข้หวัดหมู จะไม่ต่างจากความปลอดภัยจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ก็ตาม

ข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 รายงานว่า มีกรณีจำนวนน้อยที่เกิดกลุ่มอาการข้างเคียง หลังจากได้รับวัคซีน A H1N1และตรวจพบเพียงอาการเจ็บป่วยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับการระบาดของไข้หวัดหมู ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งในเวลานั้น การฉีดวัคซีนขนานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดโรคที่มีความผิดปรกติของเส้นประสาทส่วนปลายกว่า 500 กรณี และมีผู้เสียชีวิต 25 คน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความกังวลทางด้านความปลอดภัยสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ต่อไข่ เพราะไวรัส A H1N1สำหรับวัคซีนนั้นถูกเพาะเชื้อในไข่ไก่ ดังนั้น ก่อนรับวัคซีนดังกล่าว ผู้เป็นภูมิแพ้ต่อไข่ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะใช้ยาที่ได้รับการคัดเลือกในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างระมัดระวัง บริษัทอเมริกัน Baxter สามารถผลิตวัคซีนที่ไม่ใช้ไข่ในการผลิตได้ แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน [ที่เพียงพอ]

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ประเทศแคนาดารายงานกรณีผู้ป่วย 24 ราย ซึ่งมีภาวะช็อกจากการแพ้หลังจากได้รับวัคซีน รวมทั้งมีผู้เสียชีวิต 1 คน ต่อมาในภายหลัง จึงประมาณการกันถึงปฏิกิริยาแพ้ 1 คน ในผู้ได้รับวัคซีน 312,000 คน อย่างไรก็ตาม มีวัคซีนเสริมจำพวกหนึ่งซึ่งอัตราการแพ้อยู่ที่ 6 คน ต่อผู้ได้รับวัคซีน 157,000 คน ทำให้วัคซีนชนิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 บริษัทยุโรป Sanofi-Aventis ได้เรียกคืนวัคซีนสำหรับเด็กกว่า 800,000 โด้ส ในสหรัฐอเมริกา เพราะพบประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำของวัคซีนดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยกระบอกฉีดยาก่อนบรรจุ วัคซีนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีอยู่ในรูปขวดขนาดเล็กใช้มัลติโด้ส (Multi-dose) ซึ่งบรรจุสารกันเสียที่ใช้ในวัคซีน ส่วนวัคซีนสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี มีอยู่ในรูปสเปรย์ฉีดเข้าจมูก [ด้วย]

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. ชี้หวัดใหญ่ 2009 ในเม็กซิโก ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ยันคนไทย 50% มีภูมิคุ้มกัน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010708 [2011, January 30].
  2. การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 http://th.wikipedia.org/wiki/การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่_2009 [2011, January 30].
  3. Final Pandemic (H1N1) 2009 vaccine deployment update – 10 November 2010 http://www.who.int/csr/disease/swineflu/action/h1n1_vaccine_deployment_final_update_2010_11_10.pdf [2011, January 31].