อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ผมต้องผ่าตัด...หรือไม่

ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าว “โรคลมชักรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด” ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนมากในภาคอีสานมาขอรับการตรวจที่คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อสอบถามว่า ต้องการหายขาดจากโรคลมชัก จะขอรับการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาให้หายขาด

จริงแล้วการรักษาโรคลมชักมีหลายวิธี

  1. การทานยากันชักเป็นวิธีหลัก
  2. การผ่าตัดเป็นส่วนน้อย
  3. การฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เป็นส่วนน้อยมากๆ

ผู้ป่วย 100 คน เมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยากันชัก 1 ชนิด ได้ผลประมาณ 65-70 คน เมื่อหมอปรับยาใหม่หรือใช้ยามากกว่า 1 ชนิด ก็จะให้ผลในการรักษาอีกประมาณ 15-20 คน ในผู้ป่วย 30-35 คน ที่ไม่ได้ผลจาการรักษาด้วยยา 1 ชนิด ดังนั้นจะเหลือผู้ป่วย 15 คน ที่ยังไม่ได้ผลในการรักษา เมื่อหมอใช้ยาหลายชนิดร่วมกับยากันชักรุ่นใหม่ ก็จะได้ผลในการรักษาประมาณ 5 คน ดังนั้นใน 100 คน อาจจะมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดจริงๆประมาณ 10 คนเท่านั้น

ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดตั้งแต่ต้น คือ ผู้ป่วยที่มีโรคเนื้องอกสมอง ฝีในสมอง หรือเลือดออกในสมอง เป็นต้น กรณีที่ไม่ตอบสนองด้วยยากันชักข้างต้น อาจมีสาเหตุมาจากกลีบสมองส่วนขมับฝ่อ ความผิดปกติของผิวสมอง และโรคที่เป็นความผิดปกติตั้งแต่เกิดของสมอง การผ่าตัดก็ได้ผลดีประมาณ 5-7 ใน 10 คน

ดังนั้นผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ (80 คน ใน 100 คน) สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาครับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการผ่าตัดมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น สบายใจได้ครับ