อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : เมื่อหนูอยากจะ...ตั้งครรภ์

ผมมักจะได้รับการปรึกษาจากแพทย์โรงพยาบาลชุมชนบ่อยครั้ง รวมทั้งสูติ- นรีแพทย์เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักตั้งครรภ์ ปัญหาที่ผมพบเสมอ คือ

  1. ต้องหยุดยาหรือเปลี่ยนยากันชักหรือไม่
  2. ต้องผ่าตัดคลอดบุตรหรือไม่
  3. ลูกจะพิการหรือไม่

ก่อนอื่นเลย ถ้าผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก ต้องทานยากันชักเพราะควบคุมอาการไม่ได้นั้น ควรต้องวางแผนครอบครัวเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์ เนื่องจากยากันชักทุกชนิด อาจส่งผลให้เด็กในครรภ์มีความพิการตั้งแต่กำเนิดได้ โดยทั่วไปแล้วในแม่แข็งแรงดีที่ไม่ได้เป็นโรคลมชัก เด็กอาจมีโอกาสเกิดความพิการได้ 2-3 คนต่อการคลอด 100 คน แต่ถ้าแม่ทานยากันชักด้วยโอกาสเกิดความพิการตั้งแต่กำเนิดอาจสูงขึ้นเป็น 4-6 คนต่อการคลอด 100 คน และถ้าแม่ใช้ยากันชักหลายชนิด โอกาสความพิการก็จะสูงขึ้นอีก ดังนี้ควรหาทางป้องกันการตั้งครรภ์ดีกว่าต้องมาแก้ไขความพิการที่อาจเกิดขึ้น

การคุมกำเนิดที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด เพราะยาคุมกำเนิดและยากันชักจะมีโอกาสตีกันได้สูง ส่งผลให้ระดับยากันชักและยาคุมกำเนิดมีระดับลดต่ำลงจนไม่สามารถควบคุมการชักและป้องกันการตั้งครรภ์ได้ การคุมกำเนิดที่ดีได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัย และใส่ห่วง เป็นต้น

ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือ ผู้ป่วยตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว จึงมาพบแพทย์ ผู้ป่วยก็จะถามผมว่าจะทำอย่างไรดี ลูกจะพิการหรือไม่ จะคลอดอย่างไร ต้องผ่าตัดหรือไม่ ต้องหยุดยาหรือเปลี่ยนยาหรือไม่

ความพิการตั้งแต่กำเนิดที่พบได้แก่ ความพิการใบหน้า ช่องปาก และที่รุนแรง คือ ความผิดปกติของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง โดยความพิการทั้งหมดนั้น จะเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกมีอายุครรภ์เพียง 8-10 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น ถ้ามาพบแพทย์หลังจากตั้งครรภ์มากกว่า 8 สัปดาห์ การหยุดยากันชักหรือเปลี่ยนยากันชักก็ไม่มีประโยชน์อะไร

กรณีผู้ป่วยวางแผนที่จะตั้งครรภ์ แพทย์จะต้องเริ่มต้นจากการแนะนำ ถึงผลของการตั้งครรภ์ต่อโรคลมชัก ผลของโรคลมชักต่อการตั้งครรภ์ และผลของยากันชักต่อทารกในครรภ์

การตั้งครรภ์นั้นจะมีโอกาสกระตุ้นให้มีการชักบ่อยขึ้นถึง 1 ใน 3 ส่วน ผลของโรคลมชักต่อการตั้งครรภ์นั้นมีหลายประการได้แก่ การแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกตัวเล็กน้ำหนักน้อยกว่าปกติ ส่วนยากันชักนั้นก็มีโอกาสเกิดความพิการตั้งแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

ถ้าผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจและยอมรับถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องวางแผนเกี่ยวกับการใช้ยาและควบคุมอาการชักทีละขั้นตอน ดังนี้

  1. ปรับยากันชักให้เหมาะสมทั้งชนิด ขนาด และวิธีการทาน แนะนำให้ลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เพื่อให้ควบคุมอาการชักให้ได้
  2. ถ้ามีเวลาพอในการเตรียมการตั้งครรภ์ สามารถปรับเปลี่ยนยากันชักที่มีโอกาสเกิดความพิการตั้งแต่กำเนิดที่ร้ายแรง เช่น วาวโปลิคแอซิค หรือคาร์บาร์มาซีปีน เป็น ลาแมคทอล หรือลีวีไทราซีแทม
  3. ถ้าผู้ป่วยควบคุมอาการชักได้ดี และสามารถปรับลดขนาดยาลงได้ ก็ควรปรับลดขนาดยาก่อนที่จะตั้งครรภ์
  4. ควรให้กรดโฟลิคเสริม เพื่อลดโอกาสการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ และถ้าสามารถติดตามระดับยากันชักได้ก็ควรทำ แต่ต้องแนะนำเสมอว่า ไม่ควรหยุดยากันชักเองโดยเด็ดขาด

เมื่อผู้ป่วยตั้งครรภ์แล้ว ต้องแนะนำฝากครรภ์กับสูติ-นรีแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีการประเมินทารกในครรภ์ว่ามีความพิการเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องระมัดระวังไม่ให้มีปัจจัยกระตุ้น เพราะถ้าชักอาจส่งผลต่ออาการทารกในครรภ์ และการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้

เมื่อครบกำหนดคลอดก็สามารถคลอดได้ตามปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด ยกเว้นคลอดทางช่องคลอดปกติแล้วไม่สามารถคลอดได้ หรือมีข้อบ่งชี้การผ่าตัดคลอดหรือใช้คีมช่วยคลอดก็พิจารณาตามข้อบ่งชี้นั้นๆเป็นแต่ละรายไป

ถ้าเป็นไปได้ก่อนถึงกำหนดคลอด 1 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาล ให้วิตามิน-เค เพื่อป้องกันและลดโอกาสเลือดออกในทารก รวมทั้งสังเกตอาการเพื่อให้การรักษาได้ทันที ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักเนื่องจากช่วงใกล้คลอดผู้ป่วยจะมีโอกาสชักได้บ่อยกว่าช่วงอื่นๆ

หลังคลอดต้องมีการติดตามระดับยากันชัก เพราะระดับยาจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังคลอด สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระวังขณะให้นมบุตร เพราะถ้ามีอาการชัก อาจเกิดอันตรายต่อบุตรได้

ประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก สามารถตั้งครรภ์คลอดบุตรได้ตามปกติครับ และบุตรก็สมบูรณ์ดีครับ ส่วนทารกที่พิการก็มักจะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งผู้เป็นแม่และครอบครัวก็เสียใจแต่มันก็คุ้มต่อการอยากมีบุตรมิใช่หรือ