อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ผมไม่เชื่อ...ว่าเป็นลมชัก

ผู้ป่วยทุกคนเวลาพบหมอ มีสิ่งที่ต้องการเหมือนกัน 2 ข้อ คือ 1.ต้องการทราบว่าเป็นโรคอะไร และ2.จะรักษาหายหรือไม่ ผู้ป่วยมักปักธงไว้แล้วส่วนหนึ่งว่า ตนเองจะเป็นโรคอะไร เช่น ปวดศีรษะเรื้อรังไม่หาย ก็คิดว่าตนเองจะเป็นโรคเนื้องอกสมอง แขนขาอ่อนแรงก็กลัวว่าจะเป็นโรคอัมพาต

แต่จากตัวอย่างโรคลมชักที่ควรทราบและชักแบบไม่ธรรมดานั้น จะเห็นได้ว่าการชักมีหลายรูปแบบมากๆบางอย่างก็ไม่น่าจะเป็นอาการชักเลย การวินิจฉัยก็ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยประวัติที่ละเอียดและถูกต้อง อีกสาเหตุหนึ่งที่ยุ่งและยากมากขึ้นในผู้ป่วยโรคลมชักก็คือ ระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการ ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตอนเป็นนั้นตนเองมีอาการอะไรบ้าง

เรื่องนี้เริ่มต้นคือว่า ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่ม สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ มีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ขาดสติหลายครั้ง พี่สาวพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน ขณะนำส่งก็มีอาการให้แพทย์เห็น จึงวินิจฉัยได้ง่าย และบอกกับผู้ป่วยว่าเป็นโรคลมชัก ต้องทานยาต่อเนื่อง 2 ปี เรื่องก็น่าจบโดยดี แต่ไม่จบครับ

ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นโรคลมชัก จึงไม่ยอมทานยาและไม่ยอมมาพบแพทย์อีก ผู้ป่วยรายนี้ไม่ยอมรับรู้ว่าตนเองเป็นโรคลมชัก ขนาดที่เป็นนั้นผู้ป่วยยังบอกว่าตนเองไม่ได้เป็นแบบนั้น บอกว่าตนเองสบายดี ผมไม่เชื่อหรอกว่าเป็นโรคลมชัก

ผู้ป่วยรายนี้เราได้ใช้ความพยายามอย่างมาก ในช่วงแรกผู้ป่วยไม่ยอมทานยา เราก็ไม่ว่าอะไร ได้แนะนำให้พยายามดูแลตนเองให้ได้ อย่ามีสิ่งกระตุ้น อย่าอยู่ในที่เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะถ้าชักจะเกิดอันตรายได้ พยายามแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด อธิบายถึงรูปแบบการชักชนิดต่างๆ สาเหตุการเกิด วิธีการรักษา และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

สุดท้ายหลังจากผู้ป่วยมีอาการอีกหลายๆครั้ง ผมก็อธิบายให้ฟังอีกหลายรอบ สุดท้ายผู้ป่วยก็ยอมรับว่าตนเองเป็นโรคลมชัก ให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี สิ่งที่ผมได้เรียนจากผู้ป่วยรายนี้คือการวินิจฉัยโรคลมชักนั้นนอกจากจะยากแล้ว สิ่งที่อยากกว่าคือ การอธิบายให้ผู้ป่วยเชื่อว่าเป็นโรคลมชัก ต้องอาศัยทุกๆวิธี ใจเย็น แล้วต้องแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าเราเข้าใจและเชื่อความคิดของผู้ป่วย