หูตึงเพราะตัวเอง (ตอนที่ 6)

หูตึงเพราะตัวเอง-6

      

      สำหรับการรักษานั้น ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งบางครั้งอาจหายได้เอง หรือบางครั้งอาจต้องใช้ยา หรือดำเนินกรรมวิธีบางอย่าง เช่น ดูดขี้หูออก หรือหยอดยาละลายขี้หู และใช้วิธีที่ช่วยทำให้มีการได้ยินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น

      1. การใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) ซึ่งมีหลายชนิด เช่น

- เครื่องช่วยฟังที่ทัดไว้หลังหู ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมใช้มากที่สุด

- เครื่องช่วยฟังที่สอดไว้ในช่องหู ซึ่งมีลักษณะเล็กเป็นไปตามรูปช่องหู

      2. การฝังประสาทเทียม (Hearing implants) เหมาะกับกรณีที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรงหรือถาวรซึ่งใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล เช่น

- การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องช่วยฟังไว้ที่กะโหลกศีรษะโดยมีตัวรับเสียงอยู่ภายนอก (Bone anchored hearing aids = BAHA) เหมาะกับการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียงไม่สามารถเข้าไปถึงหูชั้นในได้ ตัวรับเสียงจะส่งสัญญาณการสั่นของกระดูกที่อยู่ใกล้หูไปยังหูชั้นใน เครื่องนี้สามารถถอดได้ตอนนอน ตอนอาบน้ำ หรือตอนว่ายน้ำ

- การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implants) เหมาะกับกรณีที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรงหรือถาวรซึ่งเครื่องช่วยฟังใช้ไม่ได้ผล ทำงานโดยเปลี่ยนเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งสัญญาณไปยังหูชั้นในที่เรียกว่า Cochlea ต่อจากนั้นสัญญาณจะเดินทางไปยังสมองเพื่อทำให้เกิดการได้ยินเสียง โดยการฝังเครื่องมี 2 ส่วน คือ

      o ติดไมโครโฟนหลังหูเพื่อรับเสียงและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งผ่านลวดไปยังอุปกรณ์บนผิวหนัง

      o อุปกรณ์ที่ติดในกะโหลกศีรษะจะรับสัญญาณจากอุปกรณ์บนผิวหนังและส่งต่อไปยัง Cochlea

      ทั้งนี้ ก่อนการฝังประสาทเทียม จะต้องมีการตรวจสอบว่า เส้นประสาทสามารถส่งสัญญาณเสียงไปยังสมองได้ดีหรือไม่

- การผ่าตัดฝังเครื่องช่วยฟังเพื่อการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory brainstem implants = ABI) เหมาะกับการสูญเสียการได้ยินที่รุนแรง ถาวร และมีปัญหาเรื่องประสาทการได้ยิน (Auditory nerve) โดยวิธีนี้จะทำงานเหมือนการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม แต่สัญญาณเสียงไฟฟ้าจะถูกส่งตรงไปยังสมองเลยแทนที่จะส่งไปที่ Cochlea

      วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กลับมาได้ยินเต็มที่ เพียงแต่ช่วยพัฒนาการให้ได้ยินในระดับหนึ่ง

- การผ่าตัดประสาทหูชั้นกลางเทียม (Middle ear implants = MEI) อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังแบบปกติได้ เช่น อาจแพ้วัสดุของเครื่องช่วยฟังหรือไม่เข้ากับช่องหูพอดี โดยวิธีนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

      o อุปกรณ์ที่ติดกับผิวหนังที่สามารถจับเสียงและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า

      o อุปกรณ์ที่อยู่ใต้ผิวหนังที่จับสัญญาณและส่งผ่านเส้นลวดไปยังกระดูกชิ้นเล็กในหูลึกที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งหมายถึงเสียงสามารถเดินทางเข้าไปยังหูชั้นในและสมองได้

      วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กลับมาได้ยินเต็มที่ เพียงแต่ช่วยให้ได้ยินดังและชัดขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Hearing loss. https://www.nhs.uk/conditions/hearing-loss/ [2018, March 23].