หูดับแต่ตับไม่ไหม้ (ตอนที่ 1)

หูดับแต่ตับไม่ไหม้-1

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ตั้งแต่ต้นปี 2560 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 111 ราย เสียชีวิต 6 ราย พบมากสุดใน จ.พะเยา เชียงใหม่ ชัยภูมิ และพิจิตร ตามลำดับ

โดยมักจะพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของปี ซึ่งเป็นช่วงงานบุญและเทศกาลต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับใน จ.พะเยา จำนวน 4 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดมีประวัติรับประทานลาบหมูดิบในงานสู่ขวัญ ซึ่งมีผู้รับประทานทั้งหมด 21 คน และขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จึงขอเตือนให้ประชาชนต้องระมัดระวังโรคไข้หูดับ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า เชื้อดังกล่าวเข้าสู่คนได้ 2 วิธี คือ เมื่อร่างกายคนมีแผลแล้วไปสัมผัสหมู และกินเนื้อหมูหรือเลือดสด

ส่วนอาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกที่เรียกว่า ไข้หูดับ ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต

โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis = S. suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกรูปคล้ายถั่วลิสง ที่ชื่อว่า สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ที่อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย

ถือเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) โดยเชื้อสามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัสกับหมูโดยเฉพาะตอนที่มีแผลและการกินเนื้อหมูที่ไม่สุก ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อระหว่างคน (Human-to-human transmission) หรือไม่

โรคไข้หูดับเคยแพร่ระบาดในประเทศจีนในปี พ.ศ.2541 และ พ.ศ.2548 โดยมีคนติดเชื้อหลายร้อยรายและมีผู้เสียชีวิต 38 ราย ส่วนในประเทศไทยพบการแพร่ระบาดในเดือนมิถุนายน 2553 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีผู้เสียชีวิต 5 ราย

อาการแรกที่พบในตัวหมู คือ เป็นไข้ (Pyrexia) และอาจมีการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันในเล้าหมู โดยหมูจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ทำให้มีอาการทางระบบประสาทตั้งแต่สั่น ชัก และเสียชีวิต หรือมีการติดเชื้อที่ขาของหมู ซึ่งทำให้ขาพิการหรือขาบวม นอกจากนี้ยังอาจปรากฏโรคที่ผิวหนังและระบบสืบพันธุ์

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือน กินหมูดิบ ระวังป่วย. http://www.thaihealth.or.th/Content/36763-เตือน กินหมูดิบ ระวังป่วย.html [2017, June 02].
  2. Streptococcus suis. http://ecdc.europa.eu/en/healthtopics/streptococcus_suis/Pages/index.aspx [2017, June 02].
  3. Streptococcus suis Infection. http://www.chp.gov.hk/en/content/9/24/3648.html [2017, June 02].