หาว การหาว (Yawn)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 4 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- หาวคืออะไร?
- หาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ทำไมจึงหาว?
- ทำไมถ้าคนหนึ่งหาว คนอื่นๆมักหาวตาม?
- การหาวบ่อยๆเป็นโรคหรือไม่? เมื่อใดควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุว่าหาวผิดปกติได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาอาการหาวได้อย่างไร?
- อาการหาวที่ผิดปกติรักษาหายไหม?
- การหาวมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนไหม?
- ถ้าหาวมากๆจะดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันการหาวได้ไหม?
- สรุป
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
บทนำ
“หาว หาว หาว” วันนี้ทำไมเราจึงหาวบ่อยๆ การประชุมน่าเบื่อจังเลย หรือ “...หาว หาว หาว…” ง่วงนอนจังเลย นอนดีกว่า หลายคนคงสงสัยว่าหาวคืออะไร แล้วทำไมต้องหาว หาวบ่อยๆ เป็นโรคหรือไม่ ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ
หาวคืออะไร?
หาว คือการที่มนุษย์หรือสัตว์ค่อยๆอ้าปากใช้เวลานานมากกว่า 3 วินาที และหุบปากอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเฉลี่ยในการหาวแต่ละครั้งประมาณ 6 วินาที การหาวนั้นพบได้ทั้งในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในคนพบตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ จนกระทั้งก่อนเสียชีวิต
หาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การหาวมีกลไกการเกิดซับซ้อน โดยมีสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) และฮอร์ โมนที่เกี่ยวข้องหลายชนิด เช่น โดปามีน (Dopamine), กลูตาเมท (Glutamate), อะซีตีลโคลีน (Acetylcholine), เอซีทีเอช (ACTH), และออกซีโตซินเป็บไทด์ (Oxytocin peptide) ส่ง ผลต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ผ่านไปที่สมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippo campus) , พอนด์ (Pons), และเมดดูล่าออบลองกาตา (Medulla oblongata) ทำให้เกิดการหาวขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท)
ทำไมจึงหาว?
การหาวในคน ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน แต่มี 2 ความเชื่อ ซึ่งเกิดจากการสัง เกต คือ การหาวเพราะสภาพทางร่างกาย และการหาวเพราะสภาพทางจิตใจ
- การหาวเพราะสภาพทางร่างกาย จากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง มีหลายเหตุผลและสมมุติฐาน เช่น หาวเพราะง่วงนอน เห็นได้จากก่อนที่เราจะนอน ก็จะรู้สึกง่วง ความตื่นตัวลดลง เราก็จะหาวติดต่อกันแล้วก็ง่วงมากขึ้น ต่อด้วยนอนหลับ หรือช่วงหลังตื่นนอนทันทียังสะลึมสะ ลือ ก็หาวหลังจากนั้น ก็สดชื่นขึ้น จึงมีประเด็นว่า การหาว อาจเกิดเพราะก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์สูงขึ้น และออกซิเจนลดต่ำลงในช่วงที่เพิ่งตื่นนอน, หรือหาวเพราะต้องการสร้างความสดชื่นก็ได้ เพราะบางคนหาวแล้วรู้สึกสดชื่นขึ้นเพราะร่างกายอาจได้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงของก๊าซออกซิเจน และ/หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดในการหาวแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสังเกตพบว่า ถ้าเรานำผ้าชุบน้ำเย็นมาวางที่หน้าผาก (ทำให้อุณหภูมิลดลง) คนเราจะสดชื่นขึ้น แต่ถ้าเอาผ้าแช่น้ำอุ่นวางที่หน้าผาก (ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น) คนเราจะหาวได้ จึงเชื่อว่า การหาวคือ ต้องการลดอุณหภูมิของสมอง และ บางครั้งเมื่อเราหูอื้อ ก็มีการหาวเพื่อลดอาการหูอื้อได้ เพราะการหาวช่วยร่างกายปรับความดันในช่องหูชั้นกลางได้
- การหาวเพราะสภาพทางจิตใจ คือ หมายถึงการเบื่อ เป็นภาษาทางกายสากล ไม่ว่าคนเชื้อชาติไหน ถ้าหาวก็บ่งถึงว่ามีอาการเบื่อหน่าย บางครั้งการหาวจากคนหนึ่งก็อาจส่งผลให้คนอื่นๆที่อยู่รวมกันมีอาการหาวได้ ดังนั้น การหาวก็เป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมอย่างหนึ่ง
ทำไมถ้าคนหนึ่งหาว คนอื่นๆมักหาวตาม?
การที่คนหนึ่งหาวและอีกหลายๆคนหาวตามนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีการเริ่ม ทำอะไรอย่างหนึ่ง และจะมีคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆทำตาม โดยเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากละครตลกที่ดูในทีวี จะมีการใส่เสียงหัวเราะเข้าไปในละคร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนดูเกิดการคล้อยตามว่าละครสนุกจริงๆ
การหาวบ่อยๆเป็นโรคหรือไม่? เมื่อใดควรพบแพทย์?
ความเข้าใจทางการแพทย์ ในปัจจุบันดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อจำกัดว่าจริงแล้ว เราหาวเพราะอะไร อย่างไรก็ตามเราพบว่า การหาวบ่อยๆ อาจพบได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- นอนไม่พอ ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าไม่สดชื่น ต้องหาวบ่อยๆ จึงดีขึ้น
- นอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่พอ ง่วงตลอดเวลา ก็หาวบ่อยๆ
- ทานอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล ทำให้ง่วงซึม เฉื่อยชา เนื่องจากมีสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) สูงขึ้น
- โรค/ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ทำให้เหมือนคนนอนไม่พอ
- ภาวะซีด
- ซึมเศร้า
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
ดังนั้น ถ้าท่านหาวบ่อยๆ และสงสัยว่าตนเองอาจมีความผิดปกติในข้อ 4,5,6,และ 7 (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง อาการของแต่ละโรค/ภาวะ ได้ในแต่ละบทความของโรค/ภาวะเหล่านี้) เช่น กรณีที่ท่านรู้สึกว่าร่างกายไม่สดชื่น ง่วงนอนตลอดเวลา ปวดศีรษะหลังตื่นนอน ก็ควรพบแพทย์ และ
เมื่อมีอาการหาวบ่อยๆ ควรพยายามหาสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก บรรยากาศสดชื่น ไม่เคร่งเครียด ดื่มน้ำสะอาด และหายใจเข้าออกลึกๆ ให้รู้สึกสบาย สดชื่น หาเวลาพักผ่อนให้พอ และออกกำลังกาย ก็มักแก้ไขได้
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุว่าหาวผิดปกติได้อย่างไร?
กรณีโดยทั่วไปแล้ว การหาวไม่ได้เป็นโรค เป็นเพียงพฤติกรรมการแสดงออกอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่กรณีที่แพทย์สงสัยว่าการหาวนั้นจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพ ก็จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยจาก
- ประวัติอาการ และ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ
- การตรวจร่างกายว่า น่าจะมีสาเหตุจากโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆข้างต้นหรือไม่
- และถ้าสงสัยเป็นปัญหาด้านการนอนผิดปกติ ปัจจุบันก็จะมีเครื่องมือคัดกรองการนอนผิดปกติแบบพกพา ให้ผู้ป่วยนำมาตรวจการนอนที่บ้าน แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติ และสงสัยว่าจะมีอาการเกี่ยวข้องกับการนอนแน่ๆ ก็จะให้ผู้ป่วยนอนโรง พยาบาล และทำการตรวจหาปัญหาจากการนอนอีกครั้ง
แพทย์รักษาอาการหาวได้อย่างไร?
แพทย์รักษาอาการหาวโดย
- กรณีการหาวที่ไม่เป็นโรคนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวตามคำ แนะนำข้างต้นก็เพียงพอ
- แต่ถ้าสาเหตุการหาว(ผิดปกติ)เกิดจากโรค/ภาวะใดๆ ก็ให้การรักษาโรค/ภาวะผิดปกติที่ต้นเหตุนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นความผิดปกติด้านการนอน ก็ต้องให้การรักษาตามสาเหตุการเกิดความผิดปกตินั้นๆ เช่น
- การหยุดการหายใจระหว่างนอน ก็ต้องใช้เครื่องอัดอากาศหายใจระหว่างนอน
- ถ้าเกิดจากการนอนกรนเพราะโรคภูมิแพ้ ก็ต้องรักษาอาการภูมิแพ้ เป็นต้น
อาการหาวที่ผิดปกติรักษาหายไหม?
ปัจจุบันการรักษาควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุให้หาวมาก หาวบ่อยผิดปกติ ได้ผลดี สามารถรักษาหายได้ จึงเป็นการรักษาอาการหาวบ่อยให้หายตามไปด้วย
การหาวมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนไหม?
การหาวไม่มีข้อเสีย โอกาสการเกิดขากรรไกรค้างเป็นไปได้น้อยมากๆ ยกเว้นผู้ที่มีปัญ หาข้อต่อขากรรไกรอยู่ก่อนแล้ว แต่บางครั้ง อาจเป็นปัญหาทางสังคมได้
ถ้าหาวมากๆจะดูแลตนเองอย่างไร?
ถ้ามีอาการหาวมากๆ ควรทบทวนว่าตนเองมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น
- อาการง่วงนอนตลอดเวลาถึงแม้จะนอนมากแล้ว
- อ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก ปวดศีรษะช่วงหลังตื่นนอน
- อ้วนมากขึ้น
- ขี้หนาว
- ท้องผูกมาก
- ซึมเศร้า เป็นต้น
ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์หาสาเหตุ ร่วมกับการดูแลตนเองที่มักช่วยให้หาวลดลงได้ เช่น
- การพยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี บรรยากาศสดชื่น
- ไม่เคร่งเครียด
- ดื่มน้ำสะอาด
- หายใจเข้าออกลึกๆ ให้รู้สึกสบาย สดชื่น
- หาเวลาพักผ่อนให้พอ
- และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ป้องกันการหาวได้ไหม?
ปัจจุบัน การป้องกันการหาวให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน แต่โดยทั่วไป ที่พอป้องกันการหาวได้ คือ
- ต้องทำตัวให้สดชื่น
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนอับชื่น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- และพักผ่อนให้เพียงพอ
สรุป
การหาว น่าจะเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เรา ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ และอาจไม่ได้สื่อถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีอาการหาวมากๆ และติดต่อ กัน ร่วมกับมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ เฉื่อยชาลง ก็ควรต้องพบแพทย์ครับ