โรคหัวใจ: หัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Heart disease: Heart failure from coronary artery disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวใจวายคืออะไร?

ภาวะหัวใจวาย หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงาน หรือหัวใจหยุด หรือหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดฉับพลันทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป

สาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้หัวใจหยุดทำงานคือ การที่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน (จากการเกิดลิ่มเลือดไปอุด) ส่งผลให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลทำให้เกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วหรือเรียกได้อีกอย่างว่า ภาวะหัวใจเต้นแผ่วระรัว (Cardiac fibrillation) ซึ่งเป็นสาเหตุให้หัวใจเสียการบีบตัวจนไม่สามารถทำหน้าที่ที่เป็นเสมือนปั๊มน้ำได้ จนในที่สุดเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

การที่เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันจากลิ่มเลือดนั้น ถึงแม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เกิดผล ร้ายมากนัก นอกเหนือไปจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นเวลานาน (ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Heart attack) แต่บ่อยครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ส่วนหนึ่งจะเสียชีวิตฉับพลันทันทีก่อนที่จะได้พบแพทย์) และถึงแม้ไม่เสียชีวิตก็อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและหัวใจวายตามมาได้ ข้อที่น่าสังเกตและเป็นบทเรียนคือ ผู้ที่มีการอุดตันเกิดขึ้นฉับพลัน มักเป็นผู้ที่ไม่เคยมีความเจ็บป่วยร้ายแรงมาก่อน ส่วนใหญ่ไม่เคยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเล็กๆน้อยๆนำมาเลย

สิ่งที่แพทย์จะต้องทำเมื่อมีผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจวายเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย(จากหลอดเลือดหัวใจอุดตันจากลิ่มเลือด) คือ การช่วยลดภาวะเจ็บป่วยจากอาการแน่นหน้าอก การหายใจไม่ออก และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ลดโอกาสผู้ป่วยเสียชีวิต (อัตราการตาย) ซึ่งสิ่งที่จะช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การเฝ้าระวังและแก้ไขภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้ว และการแก้ไขภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ

อนึ่ง ภาวะหัวใจวายเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะหัวใจวายที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากการมีหลอดเลือดหัวใจอุดตันเท่านั้น

หัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันมีอันตรายอย่างไร?

หัวใจเป็นอวัยวะที่มีเซลล์กล้ามเนื้อที่หดตัวบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย กล้าม เนื้อหัวใจเหล่านี้ต้องการออกซิเจนและสารอาหารจากเลือดที่ไปเลี้ยงผ่านทางหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเรียกว่า หลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery) กล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัวตามการกระตุ้นของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจซึ่งจะแผ่ไปในทางเดียวกัน และก่อให้เกิดการบีบตัวพร้อมๆกันของทุกๆเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อประสิทธิภาพในการผลักส่งเลือด ดังนั้นเมื่อมีภาวะหลอดเลือดโคโรนารีอุดตัน จึงอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการบีบตัวส่งเลือดและในภาวะไฟฟ้าของหัวใจ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้หัวใจวาย และผู้ป่วยเสียชีวิตได้จากภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วและการบีบตัวที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วคืออะไร?

ภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วคือ การที่กระแสไฟฟ้าในหัวใจไม่ได้แผ่ไปในทางเดียวกัน แต่แตกกระสานซ่านกระเซ็นไปในทุกทาง ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกไปได้ ซึ่งถือเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจเสียจังหวะ(Arrhythmia) ชนิดหนึ่งซึ่งรุนแรง

บางครั้งภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วเกิดเป็นช่วงสั้นๆและหายไปได้เอง แต่บ่อยครั้งที่ไม่หายไปเอง จึงส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจกำลังขาดเลือดและเซลล์กำลังตาย โดยจะพบได้บ่อยในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ แต่ก็อาจเกิดได้ภายหลังอุดตัน 24 ชั่วโมงไปแล้วก็ได้

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไม่เกิดภาวะไฟ ฟ้าหัวใจพลิ้ว แต่ก็ยังคงเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกล้ามเนื้อหัว ใจตายไปมากจนกล้ามเนื้อที่เหลืออยู่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ประ มาณว่าถ้ากล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย (หัวใจมี 4 ห้อง ห้องบน 2 ห้อง/ซ้ายและขวา และห้องล่าง 2 ห้อง/ซ้ายและขวา) ซึ่งเป็นห้องสำคัญตายไปมากกว่า 40% หัวใจก็ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ความดันเลือดต่ำ และเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตตามมา ผู้ป่วยบางรายที่รอดชีวิตได้แต่มีการทำงานของหัวใจลด ลง ไม่สามารถบีบตัวได้ดีเหมือนเดิม ก็จะมีภาวะหัวใจวาย โดยจะมีอาการเหนื่อยเมื่อมีการออกแรงหรือออกกำลัง

การตายอย่างต่อเนื่องของกล้ามเนื้อหัวใจนี้จะเกิดได้เร็วและได้มากในช่วงแรกๆของการอุดตัน ซึ่งถ้าแก้ไขภาวการณ์อุดตันของหลอดเลือดได้ก็จะทำให้การรอดตายของกล้ามเนื้อมีมากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดภาวะหัวใจวายและผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง กล้ามเนื้อหัวใจที่มีหลอดเลือดอุดตันไปเลี้ยงนั้นจะตายเกือบหมดถ้าหลอดเลือดอุดตันนานมากกว่า 6 ชั่วโมงไปแล้ว

รักษาภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วได้อย่างไร?

การรักษาเมื่อเกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วอันเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันนั้น จะต้องใช้กระแสไฟฟ้าช็อกหัวใจเป็นสำคัญ โดยมีหลักคิดทางวิทยาศาสตร์คือ ภาวะหัวใจพลิ้วเป็นความผิดปกติทางไฟฟ้าหัวใจ และเมื่อใช้กระแสไฟฟ้าช็อกหัวใจแล้ว เซลล์ทุกเซลล์ในหัวใจก็จะถูกกระตุ้นพร้อมกันหมดและหยุดพลิ้วได้ ทั้งนี้เซลล์ตัวนำกระแสไฟฟ้าปกติของหัวใจ จะกลับมาทำงานก่อนเซลล์อื่นๆ ซึ่งก็จะชี้นำให้เกิดกระแสไฟฟ้าหัวใจไปในทางเดียวกัน จนหัว ใจกลับบีบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

การช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้านี้จะต้องใช้เครื่องช็อกที่คล้ายแต่ไม่เหมือนกับกระแสไฟบ้าน ซึ่งเครื่องที่มีใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบันเป็นการช็อกหัวใจผ่านผนังและกล้ามเนื้อหน้าอก ทำให้เมื่อใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น กล้ามเนื้อหน้าอกและร่างกายส่วนบนก็จะถูกกระตุ้นทางไฟฟ้า เกิดการกระตุกไปทั่ว ดังที่คงเคยเห็นในภาพยนตร์ การรักษานี้เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและได้ประโยชน์มาก

จากประวัติการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกและมีกล้ามเนื้อหัวใจตายในภาพ รวมในช่วงปีทศวรรษ 1950 - 1960 ก่อนที่จะมีห้องซีซียู (CCU, cardiac care unit, ห้องดูแลเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน) และการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องช็อกหัวใจนั้น อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 30% แต่เมื่อมีการเฝ้าระวังจังหวะการเต้นของหัวใจในซีซียู และใช้การช็อกหัวใจเมื่อเกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้ว อัตราการเสียชีวิตลดลงได้มากกว่าครึ่ง และอยู่ในช่วง 15% ซึ่งผลส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็เกิดจากการลดอัตราการตายจากการรักษาภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้ว

ภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วนี้อาจเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล แต่ถ้าสามารถพาผู้ ป่วยถึงห้องฉุกเฉินได้ทันเวลา หรือถ้ามีรถพยาบาลที่มีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจไปถึงได้เร็วพอ ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดตายได้ด้วยการช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า แต่ถ้ารอนานเกินไป (นานมากกว่า 15 นาทีหลังจากที่หมดสติไป) ก็อาจไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ หรือในบางรายหัว ใจหยุดนิ่งไปนานส่งผลให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ถึงแม้หัวใจถูกกระตุกกลับมาได้ และสามารถ กลับมาบีบตัวได้เหมือนเดิม แต่สมองขาดเลือดเลี้ยงเป็นระยะเวลานานก็ทำให้ผู้ป่วยไม่ฟื้นหรือ ไม่ตื่นเพราะเกิดภาวะเซลล์สมองตายหรือที่เรียกว่าเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรา

ดังนั้น 6 ชั่วโมงแรกนอกจากเป็นช่วงเวลาที่อาจเกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วแล้ว ยังเป็นช่วงที่มีความสำคัญคือ เป็นช่วงที่จะมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักจะตายหมดภายใน 6 ชั่วโมง จำนวนหรือปริมาณของกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดภาวะหัวใจวายของผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งถ้ามีกล้าม เนื้อหัวใจตายมาก หัวใจก็จะมีความสามารถในการบีบตัวลดลง โอกาสที่จะเสียชีวิตหรือโอกาสที่จะเกิดภาวะหัวใจวายก็จะมากขึ้น ภาวะหัวใจวายจะทำให้ผู้ที่รอดชีวิตมีอาการเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง นอนราบไม่ได้ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ตามปกติ

การตายของกล้ามเนื้อหัวใจสามารถถูกจำกัดให้มีจำนวนหรือปริมาณน้อยลงได้ด้วยการคลายการอุดตันที่เกิดจากลิ่มเลือด ความสามารถในการคลายการอุดตันของหลอดเลือด (ซึ่งช่วยให้รอดชีวิตและช่วยลดอุบัติการภาวะหัวใจวาย) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการอุดตันและวิธีคลายการอุดตัน จะได้ผลดีมากภายในช่วง 6 ชั่วโมงแรกหลังจากที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (คือปริมาณการตายของกล้ามเนื้อหัวใจลดลงได้มาก อัตราของการกลับมาทำงานของหัวใจจะดีขึ้นและโอกาสเสียชีวิตจะน้อยลง) ผลเหล่านี้จะดีที่สุดถ้าสามารถทำได้ในระยะเวลา 1 - 2 ชั่ว โมงแรกเพราะการตายของกล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดขึ้นเร็วมากในช่วงแรกและช้าลงตามลำดับดัง กล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม การตายของกล้ามเนื้อหัวใจยังขึ้นอยู่กับภาวะความต้องการออกซิเจนใน ช่วงที่เกิดการอุดตันและภาวะมีเลือดอ้อมมาเลี้ยงจากหลอดเลือดเส้นอื่น (กล้ามเนื้อหัวใจมีช่อง ทางเล็กๆหรือหลอดเลือดฝอยส่งต่ออ้อมข้ามถึงกันระหว่างหลอดเลือดโคโรนารี) ถ้ามีการทำงาน ของหัวใจมาก (โดยวัดจากอัตราการเต้นต่อนาทีและความดันเลือด) ก็จะต้องการออกซิเจนมากและเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้เร็วและได้มาก ถ้าการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจยังไม่มากนักก็จะใช้เวลาในการตายช้าลง ถึงแม้คนส่วนใหญ่กล้ามเนื้อหัวใจมักจะตายหมดภายใน 6 ชั่วโมง แต่ก็มีคนบางกลุ่มซึ่งการตายของกล้ามเนื้อหัวใจอาจจะใช้เวลานานขึ้นซึ่งอาจจะเป็น 12 ชั่วโมงได้ เพราะมีการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจน้อย และ/หรือ พอจะมีเลือดอ้อมมาเลี้ยงจากหลอดเลือดฝอย และตราบใดที่ยังมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอยู่ก็ยังจะได้ประโยชน์จากการรักษาเพื่อคลายการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ

รักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้อย่างไร?

การคลายหรือสลายการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจในปัจจุบันเป็นการรักษาที่มีประโยชน์มาก โดยเมื่อมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อีกครั้งก็จะทำให้กล้ามเนื้อกลับมาบีบตัวได้ตาม ปกติและโอกาสที่จะเสียชีวิตหรือเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลง

การคลายหรือสลายการอุดตันนั้น แพทย์มีวิธีการหลายแบบตามความเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน โดยมีการใช้ยาละลายลิ่มเลือดและการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยลูกโป่งเป็นการรัก ษาที่สำคัญ

โดยธรรมชาติแล้วภาวะอุดตันโดยลิ่มเลือดในหลอดเลือดโคโรนารีนั้นสามารถคลายตัวได้เองจากสารละลายลิ่มเลือดโดยธรรมชาติ แต่มักจะเกิดขึ้นได้ช้าและไม่ต่อเนื่อง คือยังมีการอุดตันซ้ำใหม่เป็นๆหายๆได้มาก ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจจะตายเพิ่มทุกครั้งที่มีการอุดตันซ้ำใหม่ และโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตก็จะมากขึ้น การใช้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดเป็นการรักษาที่สำคัญ โดยที่ยาละลายลิ่มเลือดจะทำให้หลอดเลือดโคโรนารีคลายการอุดตันได้เร็วขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (เจ็บแน่นหน้าอก, หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย) หัวใจสามารถกลับมาบีบตัวได้ดีขึ้น และโอกาสรอดชีวิตมีมากขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่ได้ให้ยา

ยาละลายลิ่มเลือดจะได้ผลมากที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นถ้าสามารถให้ยาได้ในช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจยังตายไม่หมดคือในช่วง 6 ชั่วโมงแรก โดยเฉพาะช่วง 1 - 2 ชั่วโมงแรกจะเป็นช่วงที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีอัตรา การตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสามารถลดอัตราการตายได้มากกว่า 50% ซึ่งผลการลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และประโยชน์จะได้น้อยมากเมื่อเวลาผ่านไปนานเกินกว่า 12 ชั่วโมง ดังนั้นในทุกชั่วโมงที่ผ่านไปมีค่า ไม่ใช่ว่าสามารถรอได้ถึง 6 หรือ 12 ชั่วโมงถึงจะรักษาก็ได้ ควรให้การรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

ผู้ป่วยบางรายที่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด จึงไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ แต่ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจหรือห้องแคท แล็บ (Cath lab, cardiac catheterization laboratory) ก็มีทางเลือกอีกทางคือ การขยายหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีด้วยลูกโป่ง (Ballooning) ซึ่งให้ผลรักษาได้ดีไม่ด้อยไปกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด โดยที่อัตราการตายของผู้ป่วยและของกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราการตายซ้ำใหม่ของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง รวมไปถึงอัตราการเกิดภาวะหัวใจวาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า 6 ชั่วโมงแรกหลังจากมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจหรือจากที่ผู้ ป่วยมีอาการมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงและเป็นช่วงที่จะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลเฝ้าระวังจังหวะการเต้น และการทำงานของหัวใจภายในสถานที่ที่สามารถแก้ไขภาวะวิกฤตทางหัวใจได้คือ ห้องซีซียู หรือ ห้องไอซียู (ICU, intensive care unit) ทั้งนี้ ความเสี่ยงหรืออันตรายที่พบได้ในช่วงนี้และน่ากลัวมากที่สุดคือ การเกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วและหัวใจหยุดเต้นนิ่งจนผู้ป่วยเสียชีวิต และประโยชน์ที่จะได้นอกเหนือไปจากการรักษาภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นช่วงโอกาสทองที่จะลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจด้วยการรักษาคลายการอุดตันของหลอดเลือดโคโรนารี

มีข้อแนะนำในการพบแพทย์อย่างไร?

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะหรือโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ) คือ ความจำเป็นที่ต้องมาพบแพทย์เมื่อมีอา การอันสงสัยได้ว่าจะมีภาวะหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีอุดตัน อาการดังกล่าวก็คือ อาการ เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อขณะไม่ได้มีการออกกำลังหรือเมื่ออยู่เฉยๆที่เจ็บแน่นเป็นเวลานานกว่า 30 นาที และในคนที่รู้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีตีบตันมาก่อนก็คือ การที่อาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหลังจากที่อมยาไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ไปแล้ว 2 - 3 ครั้ง ก็ควรระลึกว่าหลอดเลือดหัวใจที่เคยตีบอยู่อาจจะอุดตันเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่เป็นโรคหรือผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรคแต่มีปัจจัยเสี่ยงเมื่อมีอาการดังกล่าวจะต้องรีบไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อจะได้ รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการดูแลต่อเนื่องที่เหมาะสม

ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นที่คาดกันว่าจะมีผู้ป่วยหัวใจวายเพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะประชากรไทยที่มีจำนวนมากขึ้น เสียชีวิตจากโรคอื่นๆน้อยลง มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ดี (ถึงแม้ว่าประเทศเรายังคงเป็นหนี้อยู่มากก็ตาม) ความชุกของปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัว ใจมีมากขึ้นอันได้แก่ ระดับน้ำตาล (โรคเบาหวาน) ระดับไขมันในเลือด (โรค/ภาวะไขมันในเลือดสูง) และระดับความดันโลหิต/เลือด (โรคความดันโลหิตสูง) ที่สูงขึ้นตามลำดับ บวกกับจำนวนประชากรที่สูบบุหรี่ยังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยง และการรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อมีอาการดังกล่าวแก่ทั้งบุคคลทั่วไปและผู้ที่มีปัจ จัยเสี่ยงต่อโรคนี้ เพื่อเมื่อมีโรคเกิดขึ้นจะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

สรุปสาระสำคัญเรื่องหัวใจวาย

หัวใจวายคือการหยุดทำงานของหัวใจและเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต (ตาย) สาเหตุหลัก ของหัวใจวายในปัจจุบันคือ การมีลิ่มเลือดอุดตันฉับพลันในหลอดเลือดโคโรนารี ทำให้เกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วเสียชีวิตฉับพลันได้ หรือเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่องจนไม่มีประสิทธิภาพในการบีบตัวและผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา

ระยะ 6 ชั่วโมงแรกหลังจากที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นระยะเวลาที่สำคัญเพราะเป็นช่วงที่จะมีอันตรายจากภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วได้บ่อย และเป็นช่วงที่มีอัตราการตายของกล้าม เนื้อหัวใจเกิดขึ้นได้เร็ว เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาในห้องซีซียู และจากการรักษาเพื่อสลายการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีการใช้ยาและการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งเป็นหลัก

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ 1

นายสมมติ (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี มีอาชีพขับรถรับจ้าง มีนิสัยที่สูบบุหรี่อยู่เป็นประจำ รูป ร่างท้วมและลงพุงเพราะทานอาหารได้ตามอำเภอใจและไม่นิยมการออกกำลังกาย วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2545 นายสมมติเกิดอาการจุกแน่นบริเวณเหนือลิ้นปี่ร้าวขึ้นไปที่กรามและที่แขนซ้าย อาการเป็นอยู่นานกว่าหนึ่งชั่วโมง และเริ่มมีอาการเหนื่อย หายใจลำบากร่วมด้วยในเวลาต่อมา นายสมมติรักษาตัวเองด้วยยาน้ำขาวๆเพราะคิดว่าอาหารไม่ย่อย แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น เลยตัดสินใจไปนอนพักเพราะคิดว่ากินยาแล้วคงจะดีขึ้น ทิ้งเวลาให้ผ่านไปอีก 3 ชั่วโมง แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงตัดสินให้ญาตินำส่งโรงพยาบาล ในระหว่างที่นั่งรถไปโรงพยาบาล เกิดอาการแน่นหน้าอกมากขึ้น และรู้สึกหน้ามืด คลื่นไส้ และเป็นลมหมดสติไป ตัวเริ่มเขียวและหยุดหายใจในระหว่างที่กำลังเดินทาง เมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินก็ถูกนำตัวขึ้นเตียงเข้าห้องช่วยเหลือวิกฤต พบว่ามีภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้ว ซึ่งได้รับการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าทันทีหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถช่วยกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติได้เลย แพทย์ทำการช่วยนวดหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยาทางหลอดเลือดดำอีกเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วคงเกิดมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรจึงไม่ตอบสนองต่อการรักษา และสาเหตุสำคัญที่เกิดแต่แรกคือภาวะการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีจากลิ่มเลือด

ถ้านายสมมติมีความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจบ้าง ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค (สูบบุหรี่ ไม่นิยมการออกกำลังกาย และทานอาหารตามใจปาก) และไม่สามารถลดความน่าจะเกิดโรคได้ แต่ก็สามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายของโรคที่จะเกิดได้ถ้าได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ถ้าเขาเริ่มไปโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มมีอาการในชั่วโมงแรก แพทย์สามารถตรวจพบว่าภาวะหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีอุดตันได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟ ฟ้าหัวใจอีเคจี หรืออีซีจี (EKG หรือ ECG, elektrokardiogramm/ภาษาเยอรมัน, electro cardiography) โดยเป็นการตรวจที่ไม่เจ็บไม่ปวดและไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก และสามารถให้การรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการเฝ้าระวังการเกิดภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วได้ และเมื่อเกิดอาการแต่แรก สามารถช็อกด้วยกระแสไฟฟ้าให้หายได้ เพราะเกิดในระยะเวลาไม่นาน นอกจาก นั้นแล้วแพทย์ยังสามารถให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดเพื่อลดอุบัติการของการเจ็บป่วยและอัตราการตายจากภาวะหัวใจล้มเหลวอันเป็นผลจากการตายอย่างต่อเนื่องของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเมื่อหลอดเลือดโคโรนารีอุดตัน ดังนั้นถึงแม้ว่านายสมมติไม่เสียชีวิตจากภาวะไฟฟ้าหัวใจพลิ้วในวันแรกที่เกิดอาการแน่นหน้าอก ก็อาจจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายในวันต่อๆมาก็ได้

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ 2

นางเปรียบเปรย (นามสมมุติ) อายุ 62 ปี เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอยู่แต่เดิม แต่ไม่ค่อยชอบการรักษาทางยา ชอบวิธีการรักษาทางธรรมชาติด้วยการกินวิตามิน เริ่มมีอาการแน่นหน้าอกเมื่อตอนตื่นนอนในเช้าวันหนึ่ง อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆแต่ก็คิดว่าพอทนได้ ให้การรักษาตัวเองด้วยยาพื้นบ้านและผลไม้ อาการแน่นหน้าอกเป็นอยู่แทบทั้งวันและก็ค่อยหายไปเอง แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำใหม่เป็นระยะๆในวันต่อๆมา เธอเริ่มมีอาการเหนื่อยและหอบ เวลานอนราบกลางคืนบางครั้งจะต้องตื่นขึ้นมาเพราะหายใจลำบาก

อาการเหนื่อยของนางเปรียบเปรยเป็นมากขึ้นในวันที่ 5 หลังจากที่มีอาการแน่นหน้าอก ถึงแม้ว่าอาการแน่นหน้าอกจะหายไปแล้ว นางเปรียบเปรยได้เข้าพบแพทย์ซึ่งตรวจพบว่าเธอมีภาวะหัวใจวาย น้ำท่วมในปอด ได้ให้การรักษาด้วยยาจนอาการดีขึ้น รอดชีวิต แต่ก็ไม่สามารถทำให้เธอกลับไปเป็นเหมือนเก่าได้ นางเปรียบเปรยจึงจำเป็นต้องจำกัดภารกิจและรับประทานยาเป็นประจำ

นางเปรียบเปรยนับว่ายังมีโชคอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีทุกข์เป็นโรคหัวใจ คือยังไม่เสียชีวิตแต่ก็มีคุณภาพของชีวิตที่แย่ลง นางเปรียบเปรยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจนกล้ามเนื้อหัวใจตายไปเป็นจำนวนมาก และเกิดภาวะหัวใจวาย ทำงานลดลงมาก ถ้านางเปรียบเปรยมาพบแพทย์ตั้งแต่วันแรกของการเกิดอาการ แพทย์สามารถตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีอุดตันและสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ยา (หรือทำการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งถ้ามีข้อจำกัดทางการใช้ยา) และยังสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยที่เธอเป็นอยู่ได้