หัวใจตีบตัน (ตอนที่ 3)

หัวใจตีบตัน

ส่วนอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก (Angina) – เพราะเมื่อหลอดเลือดตีบ หัวใจจะไม่ได้รับเลือดในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงขณะออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่ออก (Shortness of breath)

อาการเจ็บหน้าอกมักเกิดบริเวณกลางหน้าอก และแพร่กระจายไปยังบริเวณแขน คอ ขากรรไกร หลัง หรือท้อง ซึ่งมักจะหายใน 10 นาที และบรรเทาได้ด้วยการพักผ่อน หรือกินยากลุ่มไนเตรท (Nitrate tablet) หรือพ่นสเปรย์

  • หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart attack / Myocardial infarction) – กรณีที่พลาคแตกออกและมีลิ่มเลือด อาจไปอุดตันหลอดเลือดทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย การที่หัวใจขาดเลือดอาจทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะได้รับการรักษาว่าเร็วขนาดไหน โดยอาการหัวใจวายจะมีลักษณะดังนี้
  • เจ็บในส่วนอื่นของร่างกาย รู้สึกเหมือนความเจ็บแล่นจากหน้าอกไปยังบริเวณ แขน ขากรรไกร คอ หลัง และท้อง
  • วิงเวียนศีรษะ (Lightheadedness)
  • เหงื่อแตก (Sweating)
  • คลื่นไส้ (Nausea)
  • หายใจขัด (Breathlessness)

นอกจากนี้ อาการหัวใจวายจะมีลักษณะคล้ายอาการอาหารไม่ย่อย (Indigestion) เช่น หนักอก ปวดท้อง หรือจุกเสียดท้อง (Heartburn)

โดยอาการหัวใจวายเกิดขึ้นได้ทุกเวลาแม้ขณะพักผ่อน หากมีอาการปวดหัวใจนานกว่า 15 นาที อาจเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะหัวใจวาย

อย่างไรก็ดี อาการหัวใจวายไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการกินยากลุ่มไนเตรทหรือพ่นสเปรย์เหมือนอาการเจ็บหน้าอก (Angina) และบางกรณีหัวใจวายก็ไม่แสดงอาการอะไร หรือที่เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโดยที่ไม่มีอาการ (Silent myocardial infarction) ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน

  • หัวใจล้มเหลว (Heart failure) – หากหัวใจบางส่วนไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่เพียงพอเนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดน้อยลง หรือหัวใจถูกทำลายเนื่องจากภาวะหัวใจวาย หัวใจอาจจะอ่อนแอเกินไปที่จะสูบฉีดเลือดได้เพียงพอที่จะไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นอย่างทันทีทัน (Acute heart failure) หรือค่อยๆ เกิด (Chronic heart failure)

บรรณานุกรม

1. Coronary artery disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronary-artery-disease/home/ovc-20165305 [2017, February 20]

2. Coronary heart disease. http://www.nhs.uk/Conditions/Coronary-heart-disease/Pages/Introduction.aspx [2017, February 20]