หลับระทม (ตอนที่ 5)

หลับระทม-5

อาการนอนไม่หลับมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้นจะมี

  • การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการนอน (Sleep patterns) – นาฬิกาชีวิตจะทำให้ผู้ที่มีอายุมากขึ้นรู้สึกเหนื่อยและเพลียเร็วในตอนเย็นและตื่นเช้าในตอนเช้า
  • การเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม – เมื่ออายุมากอาจมีกิจกรรมทางกายหรือทางสังคมที่น้อยลง ซึ่งมีผลต่อการนอนตอนกลางคืน หรือ มีเวลางีบตอนกลางวันมากขึ้นเพราะไม่มีอะไรทำ
  • การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ – อาการปวดเรื้อรัง เช่น โรคปวดข้อ (Arthritis) หรือปวดหลัง โรคซึมเศร้าหดหู่ โรควิตกกังวล ทำให้รบกวนการนอน เช่นเดียวกับโรคที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนมากขึ้น อย่างปัญหาต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะ

เกือบทุกคนจะมีปัญหาในการนอนไม่หลับเป็นบางคราว โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงไนการนอนไม่หลับ ได้แก่

  • เพศหญิง – การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างรอบเดือน อาการเหงื่อแตกและร้อนวูบวามของวัยหมดระดู รวมถึงหญิงระหว่างตั้งครรภ์ ล้วนมีผลต่ออาการนอนไม่หลับ
  • อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป – เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการนอนและการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ
  • มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ (Mental health disorder) หรือทางร่างกาย (Physical health condition)
  • มีความเครียดมาก (Stress)
  • ไม่มีตารางเวลาที่ปกติ เช่น ทำงานเป็นกะ การเดินทางในเวลาที่ต่างกัน

เพราะการนอนหลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้นอาการนอนไม่หลับจึงสามารถมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนคุณภาพชีวิต เมื่อเทียบกับคนที่สามารถนอนหลับได้ดี โดยอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับอาจ ได้แก่

  • ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนต่ำ
  • ความสามารถในการขับขี่น้อยลง และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูง
  • มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้าหดหู่ วิตกกังวล และเสพยา
  • มีความเสี่ยงสูงและรุนแรงในการเป็นโรคระยะยาว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

สำหรับการวินิจฉัยโรคอาจทำได้ด้วยการ

  • การตรวจร่างกาย (Physical exam) – หากไม่ทราบสาเหตุของการนอนไม่หลับ แพทย์อาจตรวจร่างกายเพื่อหาปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับอาการนอนไม่หลับ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูปัญหาของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
  • การทำแบบสอบถามเรื่องนิสัยการนอนหลับ (Sleep habits review) หรือการจดบันทึกการนอนหลับ
  • การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep study) – เพื่อดูคลื่นสมอง การหายใจ การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของลูกตาและร่างกาย

แหล่งข้อมูล:

  1. Insomnia http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/insomnia/home/ovc-20256955 [2017, May 19].
  2. Insomnia: Causes, Symptoms, and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/9155.php [2017, May 19].