หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 1)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

ข่าวคนอายุน้อย บางคนเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน แต่กลับเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เป็นที่สงสัยว่า ทำไมคนอายุน้อยๆ จึงเสี่ยงต่อโรคซึ่งเคยเป็นโรคของกลุ่มคนสูงวัยมากกว่า

นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก เปิดเผยข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันมีโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันโรคหนึ่งซึ่งเริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ ที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Emergency Aneurysm

นพ.วิฑูรย์ อธิบายว่าที่เป็นอันตรายมาก ก็เพราะว่าโรคนี้ส่วนใหญ่คนไข้จะไม่มีการแสดงอาการเลย จนกว่าจะมีการแตกเซาะของผนังเส้นเลือดจากผนังชั้นในเข้าไปในชั้นกลางก่อนถึงชั้นนอก โดยการแตกเซาะของผนังเส้นเลือดจะทำให้เส้นเลือดด้านนอกโป่งออก ส่วนด้านในแฟบเข้ามาทำให้เลือดที่ไหลไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ

ซึ่งปัจจุบันเราพบว่า คนไข้โรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมที่มักเป็นในคนอายุ 60-70 ปี หรืออย่างน้อยก็ประมาณ 40 ปี ขึ้นไป ปัจจุบันกลับพบคนอายุไม่ถึง 40 ปี หรือบางคนอายุไม่ถึง 30 ปี ก็มีอาการป่วยด้วยโรคนี้แล้ว

โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากหลายอย่าง ทั้งพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องอ้วน น้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูง ความเครียด และการมีโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเองไม่เคยรู้มาก่อน เพราะไม่เคยตรวจสุขภาพหรือตรวจร่างกายเลย เนื่องจากคิดว่าอายุยังน้อยคงไม่เป็นไร

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ถ้าตรวจพบก็มักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่นๆ มากกว่า และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดแดง (Artery) ที่มีการโป่งพองอันเนื่องมาจากความไม่แข็งแรงของผนังหลอดเลือด

สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บางกรณีก็เป็นมาตั้งแต่เกิด บางกรณีเกิดจากความบกพร่องของหลอดเลือดบางส่วน โดยหลอดเลือดโป่งพองสามารถเกิดได้กับหลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกาย เช่น

  • หลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aortic aneurysm)
  • หลอดเลือดแดงในสมอง (Cerebral aneurysm)
  • หลอดเลือดแดงขาพับ (Popliteal artery aneurysm)
  • หลอดเลือดแดงที่ลำไส้ (Mesenteric artery aneurysm)
  • หลอดเลือดแดงในม้าม (Splenic artery aneurysm)

ทั้งนี้ บริเวณที่เกิดมากที่สุด ได้แก่ บริเวณช่องท้องและสมอง

โดยอาการของโรคนี้ขึ้นกับบริเวณที่หลอดเลือดโป่งพอง หากเกิดใกล้บริเวณผิวตามร่างกาย มักจะมีอาการปวด บวม เป็นก้อนให้เห็น แต่หากเป็นภายในร่างกายหรือสมองมักไม่ปรากฏอาการ

แหล่งข้อมูล

1. "หลอดเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ" คนอายุน้อย..เริ่มเสี่ยง. http://www.thairath.co.th/content/710365 [2016, September 20].

2. Aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/whooping-cough/basics/definition/con-20023295 [2016, September 20].

3. Aneurysm: Causes, Symptoms and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/156993.php [2016, September 20].