หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 7 ฉี่ไม่ออก

หมอรักษาโรคประสาท

การใช้ยารักษาทุกโรค ทุกชนิดไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียว แม้กระทั่งยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หรือวิตามินก็ยังมีผลเสียด้วยกันทั้งสิ้น ผมได้สั่งยารักษาโรคพาร์กินสัน ให้คุณลุงท่านหนึ่งทานไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน พอถึงการนัดครั้งนี้ คุณลุงก็บอกกับผมว่า

“หมอครับ ตั้งแต่ผมทานยาที่หมอให้ผมไปนั้น อาการสั่นก็ดีขึ้นมากครับ แต่ว่าผมรู้สึกว่าผมปัสสาวะลำบากมากขึ้น เข้าห้องน้ำบ่อยๆ แต่ก็ปัสสาวะไม่ออก ออกแรงเบ่งอย่างมาก ก็มีปัสสาวะออกมานิดเดียว ปวดท้องน้อยมาก ผมทนไม่ได้ ก็เลยต้องไปโรงพยาบาล พยาบาลใส่สายสวนปัสสาวะให้ ได้ปัสสาวะออกมาตั้ง 1 ลิตร หมอเองก็ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ได้ตรวจก้นผมด้วย พบว่ามีต่อมลูกหมากโตไม่มาก ไม่น่าอธิบายว่าทำให้ปัสสาวะไม่ออก แนะนำให้กลับมาถามหมอที่รักษาโรคพาร์กินสันว่ายาที่ได้มานั้น ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือเปล่า”

พอผมได้ฟังเรื่องที่คุณลุงเล่าจบ ก็เข้าใจได้เลยว่า อาการปัสสาวะไม่ออกที่เกิดขึ้นนั้น เป็นจากยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสันแน่ๆ ยาที่ใช้รักษาอาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน ชื่อ อาร์เทน (artane) นั้นมีผลเสียหลายประการ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง คิดอะไรไม่ออก มึนงง และก็ปัสสาวะลำบากในผู้ชายที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต

ผมจึงบอกกับผู้ป่วยว่า “ คุณลุงครับ อาการปัสสาวะไม่ออกที่คุณลุงเป็นนั้น ไม่ได้มีสาเหตุร้ายแรงครับ อาการดังกล่าวเกิดจากการที่คุณลุงมีต่อมลูกหมากโตเล็กน้อยตามที่คุณหมอท่านบอกมา และพอได้ยาแก้สั่น ชื่อ อาร์เทนไปทาน ยาตัวนี้ทำให้เกิดผลเสียที่เกิดขึ้นกับคุณลุง คือการปัสสาวะไม่ออก จึงทำให้คุณลุงปวดท้องน้อย ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลำบาก จนกระทั่งปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมากกว่า 1 ลิตร ที่ถูกสวนออกมาเมื่อไปสวนที่โรงพยาบาลมาครับ “ อาการปัสสาวะไม่ออกนี้ เมื่อหยุดยาแล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่เกิดขึ้นอีกแน่นอนครับ ถ้าไม่ได้ทานยาชนิดนี้เข้าไปอีกครับ

คุณลุงถึงกับยิ้มออก แต่ก็อดกังวลใจไม่ได้ว่า แล้วโรคพาร์กินสันนั้นจะรักษาอย่างไร ผมก็ต้องอธิบายให้คุณลุงเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า ยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสันนั้นมีหลายชนิดครับ ถ้าไม่สามารถใช้ยาอาร์เทนได้ เราก็เปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นๆ ได้ครับ ยังมียาตัวอื่นๆ อีก ผมจึงทำการสั่งยาชนิดใหม่ให้คุณลุงทานเพื่อแก้รักษาอาการสั่น และโรคพาร์กินสัน

ผมได้เรียนรู้จากการรักษาคุณลุงเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาเสมอ ต้องสอบถามโรคต่างๆ ที่อาจพบได้ ประวัติการใช้ยา ประวัติการแพ้ยาต่างๆ เพื่อให้การรักษานั้นได้ผลดี ไม่เกิดผลเสีย ส่วนผู้ป่วยเองก็ต้องบอกรายละเอียดของตนเองต่อหมอให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เกิดผลเสียจากยาต่างๆ ที่แพทย์สั่งให้ แพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมมือกันครับ