หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 2 หมอผู้เชี่ยวชาญระบบประสาททำงานที่ไหนอย่างไร?

หมอรักษาโรคประสาท

ผมเล่าต่อเกี่ยวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท นอกจากเป็นประสาทแพทย์แล้ว ยังมีประสาทศัลยแพทย์ ก็คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมระบบประสาท การผ่าตัดรักษาโรคทางระบบประสาทสมอง ไขสันหลัง กุมารแพทย์ระบบประสาท ก็คือ กุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ซึ่งก็เหมือนอายุรแพทย์ระบบประสาท เพียงแต่แบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่อายุต่างกัน หมอเด็กก็รักษาผู้ป่วยเด็ก คือ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15-18 ปี แล้วแต่แนวทางของแต่โรงพยาบาล ส่วนหมอศัลยกรรมระบบประสาทก็รักษาหมดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาททั้ง 3 ด้านก็ทำงานร่วมกัน

อายุรแพทย์ระบบประสาทหรือประสาทแพทย์นั้นมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 450 ท่านทั่วประเทศไทย โดยประมาณร้อยละ 70 ปฏิบัติงานในกรุงเทพและปริมณฑลครับ ในภาคต่างๆ จะมีแพทย์ประจำประมาณภาคละ 20-25 ท่าน และจะประจำในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นหลัก เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทไม่ครบ ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีแนวทางการปรึกษาและส่งตัวมารับการรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา

ระบบการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่คือ ประสาทแพทย์จะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งโดยระบบหลายๆ จังหวัดที่อยู่ใกล้กันมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน จะมีระบบบริหารจัดการเรียกว่าเขตสุขภาพ ซึ่งในแต่ละเขตสุขภาพก็จะมีโรงพยาบาลศูนย์ 1-2 โรงพยาบาล ดังนั้นถ้าท่านเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท อายุรแพทย์หรือกุมารแพทย์ก็จะให้การรักษาตามมาตรฐานการรักษาที่มีการจัดทำแนวทางการรักษาโดยสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปตามมาตรฐาน ถ้าโรคนั้นๆ อายุรแพทย์หรือกุมารแพทย์สามารถให้การรักษาได้ ผลการรักษาดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่พิเศษใดๆ แพทย์ก็จะให้การรักษาได้ทันทีตามมาตรฐานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเพิ่มเติม ยาพาะโรค หรือไม่สามารถให้การรักษาได้ การรักษาแล้วได้ผลไม่ดี อาการไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะมีระบบประสานงาน ส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากขึ้น โดยยึดผลการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก

หลายคนกังวลใจว่าถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาทต้องรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเลยถึงจะดี ผมอยากบอกว่าความคิดดังกล่าวก็จริงครับ เพียงแต่ว่าการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์นั้น ก็อาจจะส่งผลให้ล่าช้าได้ หมายความว่าต้องรอพบแพทย์อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ที่ต้องเดินทางไกล ทำให้การรักษาบางครั้งล่าช้า เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน มีเวลาจำกัด ต้องรีบรักษาทันที การรอพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้มาก

การทำงานของอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจังหวัดนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะทำงานในหลายหน้าที่ เช่น อายุรแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางอายุรกรรมเหมือนกับอายุรแพทย์ทั่วไป เนื่องจากผ่านการฝึกอบรมมาเหมือนกัน และต้องดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาทโดยเฉพาะด้วย ดังนั้นแพทย์เองก็ต้องมีหน้าที่ทั้ง 2 ส่วน ดังนั้นถ้าไม่ใช่กรณีเร่งด่วน ท่านอาจไม่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาททันที เพราะแพทย์เองก็มีหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ แต่ถ้ากรณีเร่งด่วน แพทย์ก็ต้องพร้อมตลอดเวลา

การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นในปัจจุบัน แพทย์มีการปรึกษาทั้งการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างกัน ปรึกษากันทางไลน์ สามารถส่งรูป ภาพการเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้สามารถให้คำปรึกษากันได้อย่างรวดเร็ว และถ้าจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษาต่อ แพทย์ก็จะมีการประสานงานกันล่วงหน้า ทุกโรงพยาบาลจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานงานส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องกังวลเรื่องการรักษาครับ

เรื่องราวต่างๆ ที่ผมเล่ามานั้นหวังว่าจะทำให้ผู้อ่าน ผู้ป่วย ญาติมีความเข้าใจในระบบการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางระบบประสาทมากยิ่งขึ้น