หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 19 ยาตัวแข็ง

หมอรักษาโรคประสาท

ยารักษาโรคมีประโยชน์มากเท่าใด ก็มีโทษมากเช่นกันเท่านั้น จะเรียกว่าดาบ 2 คมก็พอได้ครับ การเลือกใช้ยาชนิดใด รักษาโรคไหนก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ต้องคำนึงถึงประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้น โทษบางอย่างก็เป็นที่รู้จักกันดี เช่น การเกิดผลเสียจากการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะยา ฮาโลเพอริดอล (haloperidol) เมื่อทานยาชนิดนี้ไปแล้วโอกาสที่จะเกิดผลแทรกซ้อนมีได้บ่อยมาก

“หมอครับ แม่ผมเป็นอะไรไม่รู้ มีอาการเดินตัวแข็ง มือสั่นเกร็งทั้ง 2 ข้างความจำก็ไม่ค่อยดี ช่วยแม่ผมด้วย” เมื่อผมมองดูผู้ป่วยก็สังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับอาการของโรคพาร์กินสัน แต่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นทั้ง 2 ข้างของร่างกาย สิ่งที่ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรก คือ อาการคล้ายโรคพาร์กินสัน แต่ไม่ใช่ ซึ่งส่วนมากมักเกิดจากยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช หรือยานอนหลับ ผมจึงต้องขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกชายผู้ป่วย

“ผมขอถามหน่อยนะครับ ก่อนที่คุณแม่จะมีอาการผิดปกติแบบนี้ ได้มีอาการผิดปกติอะไรมาก่อนหรือเปล่า และได้ทานยาอะไรมาก่อนหรือเปล่า” ลูกชายของผู้ป่วยบอกว่า ก่อนหน้านี้คุณแม่มีอาการผิดปกติทางพฤติกรรม ไม่ค่อยยอมนอน บางครั้งมีเอะอะโวยวาย พอพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวช ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคสมองเสื่อมและมีความผิดปกติของพฤติกรรมด้วย แพทย์จึงให้ยารักษา แต่พอทานยาที่ได้มาไม่กี่วันก็เริ่มมีอาการตัวแข็ง มือสั่นเกร็ง ซึมมากขึ้น ไม่ค่อยยอมพูดจา นอนอย่างเดียว แต่ก็สังเกตุพบว่ามีอาการตัวแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพามาพบหมอวันนี้

เมื่อผมฟังจบก็ถึงบางอ้อครับ ว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจากยาที่ได้มาแน่นอน และยานั้นน่าจะเป็นยาฮาโลเพอริดอล (haloperidol) แน่ๆ จึงขอดูยาที่ผู้ป่วยทาน แล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ ครับ ผมจึงได้แนะนำกับลูกชายผู้ป่วยให้หยุดยาที่ได้มาก่อน และได้ให้ยาเพื่อแก้อาการดังกล่าว ร่วมกับแนะนำว่าอาการผิดปกติดังกล่าวนั้นเกิดจากอะไร และต้องรักษาอย่างไร

หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ลูกชายผู้ป่วยพาแม่มาตรวจอีกครั้ง คราวนี้อาการดีขึ้นมากๆ ครับ อาการผิดปกติก่อนหน้านี้หายไปเกือบหมด แต่ก็ตรวจพบว่ามีความจำผิดปกติ มีภาวะสมองเสื่อม จึงเริมทำการรักษา แต่ต้องหลีกเลี่ยงยาที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติข้างต้นด้วย คือต้องมีความระมัดระวังในการเลือกใช้ยาให้มากขึ้น

ยามีทั้งประโยชน์และโทษครับ ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาแต่ละชนิด ยิ่งในผู้สูงอายุ มิฉะนั้นอาจเกิดผลเสียอย่างในผู้ป่วยรายนี้ได้