หมอประจำบ้าน หมอที่พึ่งของครอบครัว

หมอประจำบ้าน

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ และ ผศ.พญ.วริสรา ลุวีระ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่า คนไทยเริ่มรู้จักแพทย์ครอบครัวหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกันอย่างมาก เมื่ออดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน และ นายแพทย์ สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยนั้น ได้ประกาศนโยบายให้มีทีมแพทย์ครอบครัว (Family Care Team) ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

โดยทุกครอบครัวจะมีเบอร์โทรศัพท์ของทีมแพทย์ครอบครัวที่สามารถโทรศัพท์ เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ตลอดเวลา ซึ่งนโยบายนี้เป็นที่ถูกใจของประชาชน เพราะเข้าถึงประชาชนถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

และพัฒนาการในเรื่องนี้ก็มีความต่อเนื่องมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2559 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม”

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ล่าสุด คือ รัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร และ นายแพทย์ โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล”

โดยจะมีการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหัวหน้าทีมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเร่งการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ

เวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine = FM) เป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์ ที่แพทย์จะทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ตั้งแต่ทารกจนถึงปู่ย่าตายาย โดยเน้นการสื่อสาร การเข้าถึง การตัดสินใจร่วมกัน ที่เป็นไปด้วยความอบอุ่นและเป็นบรรยากาศของความคุ้นเคย

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย สามารถดูแลและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโรค ในลักษณะผสมผสาน ซึ่งรวมถึง

  • การให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพของคนในครอบครัว
  • การตรวจและทดสอบร่างกายตามระยะเวลา
  • การป้องกันโรค
  • การรักษาโรค
  • การส่งต่อผู้ป่วยไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น
  • การฟื้นฟูสภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวพร้อมที่จะไปดูแลเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่บ้าน ปรึกษาและเยียวยาปัญหาสุขภาพทุกคนในครอบครัวให้ความสำคัญและให้เวลาในการพูดคุยและซักถาม ทั้งในด้านความเจ็บป่วยและความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอย่างละเอียด

ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เวชศาสตร์ครอบครัวสามารถช่วยพัฒนาสุขภาพของคน ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา (Health care costs) ได้ด้วย ทั้งแพทย์และชาวบ้านก็พอใจในความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน เป็นวิธีการดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวที่ดี

แหล่งข้อมูล

1. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว : แพทย์ของแผ่นดิน. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000065158 [2016, August 21].

2. Family Medicine. https://health.ucsd.edu/specialties/primary-care/family-medicine/pages/default.aspx [2016, August 21].