หนังแข็ง (ตอนที่ 1)

หนังแข็ง

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีอดีตพริตตี้ที่เป็น “โรคหนังแข็ง” ว่า โรคหนังแข็งเป็นกลุ่มโรคภูมิแพ้ตัวเองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายอวัยวะ ทั้งผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร หัวใจ ไต เป็นต้น

หากเป็นที่ผิวหนังก็จะส่งผลให้คอลลาเจน ซึ่งทำให้ผิวนุ่มหยุ่นนั้นเปลี่ยนเป็นหดแข็งมากขึ้น ผิวหนังจึงแข็ง เมื่ออาการแสดงที่รอบปากก็ทำให้ปากแคบลง แสดงอาการที่ปลายนิ้วก็ทำให้ตัวนิ้วหดรัด ขยับยาก จากเดิมที่ข้อนิ้วสามารถขยับไปมาได้สะดวกก็ขยับไม่ได้

นพ.จินดา กล่าวว่า โรคนี้ความรุนแรงมีหลายระดับ ทั้งเล็กน้อย ซึ่งยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ระดับปานกลาง ไปจนถึงรุนแรง ซึ่งระดับรุนแรงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

โดยเฉพาะหากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหารก็จะทำให้ย่อยยาก เกิดกับไตอาจทำให้ไตทำงานเสื่อมลง เกิดที่หัวใจก็จะทำให้มีอาการเหมือนคนเป็นโรคหัวใจแทรกซ้อนขึ้น

สำหรับสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ามีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งยีน และสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ ฟังก์ชันการทำงานของเซลล์ต่างๆ ผิดปกติ อัตราการพบผู้ป่วยยังไม่แน่ชัด แต่เป็นอีกโรคที่พบเจอได้บ่อย และพบเจอมากทางภาคอีสาน

นพ.จินดา กล่าวต่อว่า การรักษานั้นต้องประเมินอาการของผู้ป่วยก่อนว่ามีความรุนแรงระดับใด เกิดขึ้นที่ส่วนไหนของร่างกายบ้าง เพื่อทำการรักษาให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการตรวจร่างกายทั่วไป และเจาะเลือดเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ

นพ.จินดา ให้คำแนะนำว่า ถ้าหากเป็นที่ผิวหนัง อย่าอยู่ในที่มีอากาศเย็น เพราะจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ผิวหนังก็ยิ่งแข็งและเจ็บปวดมากขึ้น หากอากาศหนาวก็ควรใส่ถุงมือถุงเท้าป้องกัน ทาครีม และรับประทานยาเพื่อช่วยฟื้นฟูคอลลาเจน เป็นต้น แต่หากเป็นที่ระบบอื่นของร่างกายก็ต้องให้แพทย์ด้านนั้นๆ เป็นผู้ทำการรักษา

นพ.จินดา กล่าวตอนท้ายว่า แม้โรคนี้จะรักษาไม่หายขาด แต่การมารักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้โรคนิ่ง ไม่เป็นเพิ่มขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม และช่วยให้อาการทุเลาลง

โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นโรคที่พบยากโรคหนึ่งที่ทำให้หนังแข็งและตึง บางรายอาจเป็นเฉพาะที่ผิวหนัง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น เป็นที่บริเวณหลอดเลือด อวัยวะภายใน และระบบทางเดินอาหาร

แม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่มีการกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ให้สร้างสายใยคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้นทั้งใน ผิวหนังและอวัยวะภายในอื่นๆ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น

โรคผิวหนังแข็ง มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 30-50 ปี และยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้

แหล่งข้อมูล

  1. เตือนอดีตพริตตี้ป่วย “โรคหนังแข็ง” ไม่รักษาอันตราย ยัน “บัตรทอง” ครอบคลุม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000027636 [2015, April 7].
  2. Scleroderma. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scleroderma/basics/definition/con-20021378 [2015, April 7].