หนังท้องตึง หนังตาหย่อน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

หนังท้องตึงหนังตาหย่อน-2

สาเหตุของการกินอิ่มแล้วง่วง (ต่อ)

ทั้งนี้ David Levitsky อาจารย์โภชนาการและจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล อธิบายว่า เมื่อเรากินอาหารเข้าไปในท้องและกระตุ้นระบบทางเดินอาหาร ไปกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก เลือดจะไหลเวียนจากกล้ามเนื้อและสมองมายังช่องท้อง และเมื่อเลือดไหลจากสมองลงมาที่ท้อง เราจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน

1. กินอาหารที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic index = GI) ที่สูง กล่าวคือ เมื่อเรากินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลที่มาก กลูโกสจะถูกดูดซึมอย่างเร็วจากทางเดินอาหารไปสู่กระแสเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงและตกลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย โดยอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลที่มาก ได้แก่ ขนมปังขาว ข้าวขาว เป็นต้น

[ดัชนีน้ำตาล คือ ค่าความเร็วในการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล เป็นค่าใช้จัดลำดับอาหารที่มีจำนวนคาร์โบไฮเดรตว่าประเภทใดจะมีอัตราการเปลี่ยนแป้งเป็นระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วมากหรือน้อย]

2. มีกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่สูง ซึ่งสามารถทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ เพราะในสมองทริปโตเฟนจะถูกเปลี่ยนเป็นสารเซโรโทนินและเมลาโทนิน ซึ่งสาร 2 ตัวนี้เป็นสารที่ช่วยทำให้นอนหลับ เมื่อเรากินอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลมาก อินซูลินจะเพิ่มขึ้น และไปกระตุ้นสัดส่วนของทริปโตเฟนในเลือดให้มากขึ้น ทำให้รู้สึกง่วง

3. ฮอร์โมนโคเลซิสโตไคนิน (Cholecystokinin = CCK) ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ถูกหลั่งระหว่างการย่อยอาหาร ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้เรารู้สึกอิ่มและกระตุ้นสมองทำให้เราง่วงนอน

นอกจากนี้ Dr. William Orr อาจารย์จาก University of Oklahoma Health Sciences Center ยังกล่าวว่า ยิ่งเรากินอาหารมาก อาการง่วงก็ยิ่งมีมาก เช่น การกินอาหารที่มีมวล (Solid meal) จะทำให้เราง่วงนอนมากกว่าอาหารเหลว (Liquid meal) ทั้งนี้เนื่องจากอาหารทั้ง 2 อย่างจะได้ผลสะท้อนกลับจากสมองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ในขณะที่อาหารที่เป็นของเหลวซึ่งจะถูกย่อยในส่วนบนของกระเพาะที่ต่อกับหลอดอาหาร (Fundus) อาหารที่มีมวลจะถูกย่อยในกระเพาะส่วนปลาย (Antrum) โดยกระเพาะส่วนปลายจะมีความสัมพันธ์กับสมองในการทำให้ง่วงได้มากกว่า

สำหรับการหลีกเลี่ยงอาการง่วงหลังกินทำได้ด้วยการ

  • กินอาหารทีละน้อย แบ่งเป็นมื้อย่อยๆ
  • เคี้ยวช้าๆ
  • เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแป้งขาว
  • หลังอาหารให้เกินน้ำขิงร้อนหรือชาเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Tea) เพื่อช่วยในการย่อย

แหล่งข้อมูล:

  1. Are 'food comas' real or a figment of your digestion?. http://edition.cnn.com/2017/02/03/health/food-comas-drayer/index.html [2017, September 19].
  2. Tips to Prevent Food Coma. http://www.naturalwellness.com/nwupdate/tips-to-prevent-food-coma/ [2017, September 19].
  3. So You Think You Can't … Avoid a Food Coma?. http://www.healthywomen.org/content/blog-entry/so-you-think-you-cant-avoid-food-coma [2017, September 19].