หกล้มตอนแก่ (ตอนที่ 2)

หกล้มตอนแก่

นายแพทย์อำนวย กล่าวถึง มาตรการในการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุว่า ควรเริ่มที่ผู้สูงอายุเอง รวมถึงผู้ดูแลและคนในครอบครัว ต้องใส่ใจดูแลและสังเกตผู้สูงอายุเสมอ โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุรับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและคำแนะนำ เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ดังนี้

  1. สังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว บอกระยะห่างไม่ได้ เป็นต้น/li>
  2. สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง
  3. สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือตอบสนองได้ช้าลง
  4. ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา เพื่อให้รู้ผลข้างเคียงของยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
  5. ประเมินที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน เก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ดูแลและจัดการภายในบ้านไม่ให้พื้นเปียกและลื่น โดยให้มีราวบันไดและราวจับในห้องน้ำ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ใช้โถส้วมแบบชักโครก แสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง และเตียงนอนมีความสูงระดับข้อพับเข่า
  6. ควรออกกำลังกาย เน้นการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น
  7. ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลม ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง

ที่สำคัญผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ควรร่วมกันสำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงในชุมชน เช่น พื้นทางเดิน ถนน ที่สาธารณะ กำหนด และร่วมปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆในชุมชน และสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก็ก โยคะ การรำมวยจีน การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น

จากสถิติของหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention = CDC) พบว่า แต่ละปีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี หรือมากกว่า มีการเกิดอุบัติเหตุหกล้มเป็นจำนวนมาก ในความเป็นจริงมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 25 ที่หกล้มในแต่ละปี ซึ่งการหกล้มครั้งแรกจะเพิ่มโอกาสในการหกล้มครั้งต่อไปเป็น 2 เท่า โดยผู้สูงอายุชาวอเมริกัน มี

  • การหกล้มร้อยละ 20 ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น กระดูกหัก หรือ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • แต่ละปี มีผู้สูงอายุ 2.8 ล้านคน ที่มาแผนกฉุกเฉินเพราะบาดเจ็บจากการหกล้ม
  • มากกว่า 800,000 คนต่อปี ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพราะบาดเจ็บจากการหกล้ม โดยส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือสะโพกหัก
  • หลังการปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ค่าใช้จ่ายโดยตรงที่เกิดจากการหกล้มคิดเป็นประมาณ 31,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

บรรณานุกรม

1. แนะป้องกันผู้สูงอายุ พลัดหกล้ม. http://www.thaihealth.or.th/Content/33588-แนะป้องกันผู้สูงอายุ พลัดหกล้ม.html [2016, November 13].

2. รายงานพิเศษ : “คนแก่” หกล้ม ตายวันละ 3 คน แพทย์แนะ 7 มาตรการป้องกัน. http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9590000000724&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, November 13].

3. Important Facts about Falls. http://www.cdc.gov/homeandrecreationalsafety/falls/adultfalls.html [2016, November 13].