สุกใส (ตอนที่ 2)

ผื่นมักเริ่มปรากฏครั้งแรกที่บริเวณท้องหรือหลัง และหน้า แล้วจึงลามไปทั่วตัวรวมทั้งหนังศีรษะ ปาก แขน ขา และอวัยวะเพศ เมื่อมีผื่นสุกใสเกิดขึ้นในแต่ละจุด จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  • เป็นผื่นนูนสีชมพูหรือสีแดง (Papules) เป็นเวลาหลายวัน
  • เป็นตุ่มพองมีน้ำ (Vesicles) ประมาณ 1 วัน แล้วจึงแตกออก
  • ตกสะเก็ด (Crusts and scabs) ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายวัน

สุกใสติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำบนผิวหนัง หรือสูดหายใจเอาละอองฝอยของสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หลังจากที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

อาการติดต่อมักปรากฏผื่นขึ้น 2 สัปดาห์ หลังจากที่ติดเชื้อจากคนที่เป็น เพื่อป้องกันการกระจาย ควรให้เด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาก่อนกินอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ และให้เด็กอยู่ห่างคนที่ไม่เคยเป็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงอาการมักไม่น่าเป็นห่วง แต่ในกรณีร้ายแรง ผื่นอาจกระจายไปทั้งตัวและอาจเป็นแผลในคอ ตา และเยื่อเมือก (Mucous membranes) ในท่อปัสสาวะ ทวารหนัก และช่องคลอด

ปกติสุกใสเป็นโรคไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ดีอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง อาการแทรกซ้อน ได้แก่

  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เนื้อเยื่ออ่อน กระดูก ข้อต่อ หรือกระแสเลือด (Sepsis)
  • เป็นโรคปอดบวม (Pneumonia)
  • เป็นโรคสมองอักเสบ (Encephalitis)
  • มีอาการที่เรียกว่า Toxic shock syndrome (TSS)
  • กลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่เกิดจากการกินยาแอสไพรินระหว่างเป็นสุกใส

[Toxic shock syndrome เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดโรคในหลายระบบมีลักษณะสำคัญคือมีไข้สูง เป็นผื่น (Sunburn rash) ความดันเลือดต่ำและมีการลอกหลุดของผิวหนังที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า]

[Reye’s syndrome เป็นกลุ่มอาการที่มีผลกระทบต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและตับของผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพมากที่สุด อาการสำคัญที่พบบ่อย ได้แก่ ผู้ป่วยอาเจียนอย่างรุนแรงและต่อมามีอาการทางสมอง เช่น สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึมและหมดสติ และผู้ป่วยเสียชีวิตได้]

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากสุกใส ได้แก่

  • เด็กแรกเกิดหรือทารกที่แม่ไม่เคยเป็นสุกใสหรือได้รับวัคซีน
  • หญิงมีครรภ์ที่ไม่เคยเป็นสุกใส
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำอันเนื่องมาจากการใช้ยารักษา เช่น การให้คีโม หรือผู้ที่เป็นโรคเอดส์
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหืด (Asthma)
  • ผู้ที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน

แหล่งข้อมูล

  1. Chickenpox. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/basics/definition/con-20019025 [2014, November 6].
  2. Chickenpox. http://kidshealth.org/parent/infections/skin/chicken_pox.html [2014, November 6].