สีอุจจาระ (Stool color)

สีอุจจาระ แบ่งเป็นสีอุจจาระปกติ และสีอุจจาระจากภาวะ/โรคผิดปกติ

1. สีปกติของอุจจาระ

มักเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลออกเหลือง ทั้งนี้ โดยเป็นสีที่เกิดจากน้ำดีที่เป็นน้ำย่อยอาหารจากตับและจากถุงน้ำดี

นอกจากนั้น ในคนปกติ สีของอุจจาระ ยังขึ้นกับประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ยา และทุกอย่างที่เราบริโภค แต่ทั้งนี้ อุจจาระปกติมักเป็นก้อนแข็ง หรือก้อนอ่อน และไม่มีอาการผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก ท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง

สีอุจจาระ ที่พบได้บ่อยที่ไม่ได้เกิดจากโรค นอกจากที่กล่าวแล้ว คือ

  • อุจจาระสีดำ หรือน้ำตาลเข็มจัดเกือบดำ หรือเขียวเข้มจัด หรือม่วงจนดำ เมื่อ กินผลไม้เปลือกสีดำหรือม่วงเข้ม เช่น พรุน องุ่นดำ เชอร์รีดำ, ยาบำรุงเลือด/ธาตุเหล็ก, ยาโรคกระเพาะบางชนิด เช่น ยาที่มีสารบีสมัธ/Bismuth, สมุนไพรบางชนิดโดยเฉพาะสมุนไพรจีน, สีอาหาร/ลูกอม, และเฉาก๋วย
  • อุจจาระสีออกแดงหรือชมพู เช่น เมื่อกินมะละกอสุก มะเขือเทศ บีทรูท
  • อุจจาระสีเหลือง เช่น เมื่อดื่มนมมาก หรือกินอาหารไขมันมาก
  • อุจจาระสีเขียว มักเกิดจากในอุจจาระมีน้ำดีที่ยังไม่ผ่านกระบวนการย่อย ปนออกมามาก มักเกิดเมื่อกินอาหารหวาน หรือน้ำตาลบางชนิดมากเกินไป โดยเฉพาะ จากของค้าง ของไม่สด หรืออาจเกิดจากสารที่ใช้แต่ง สี กลิ่น รส อาหาร เช่น ในขนมกรุบกรอบ ลูกกวาด หรือจากสมุน ไพรบางชนิดที่อยู่ในอาหาร เช่น ชะเอม ที่มักใช้เป็นสารเพิ่มความหวาน

2. สีอุจจาระผิดปกติ

สีอุจจาระที่ผิดปกติ ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากโรค มักเกิดร่วมกับลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น เป็นก้อนเละ เหลว เป็นน้ำ หรือเปียกเหนียว อาจมีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ก็ได้ขึ้นกับสาเหตุ สาเหตุผิดปกติที่ทำให้สีอุจจาระเปลี่ยนไป ที่พบได้บ่อย คือ

  • อุจจาระดำ เปียก เหนียว เหมือนยางมะตอย และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงผิดปกติ จะเกิดจากมีเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบน (หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบน)
  • อุจจาระเป็นเลือด พบบ่อย จาก โรคริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ ลำไส้อักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • อุจจาระสีซีด ออกสีเทา เกิดจากภาวะไม่มีน้ำดีในอุจจาระ เช่น ตับอักเสบ ไวรัสตับอัก เสบ และโรคต่างๆที่ทำให้เกิดมีการอุดตันของระบบทางเดินน้ำดี เช่น ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อมีสีและลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้อง หรือหลังกินยาแก้ปวดต่อเนื่อง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Human feces http://en.wikipedia.org/wiki/Human_feces [2013,Oct27].