ลมชัก: สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักได้ง่ายขึ้น

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักได้ง่ายขึ้น

อาการชักถึงแม้จะเกิดขึ้นเองได้โดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น แต่ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นก็จะทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้นมาก ดังนั้นเราต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อการควบคุมอาการชักได้ดียิ่งขึ้น

สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

  1. ลืมทานยากันชักและยารักษาโรคร่วม การลืมทานยากันชักเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักได้บ่อยมาก ดังนั้นต้องทานยากันชักให้สม่ำเสมอ ตรงเวลา อย่าขาดยา อย่าหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
  2. การทานยากันชักไม่เป็นเวลา หรือทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการชักเท่านั้น การทานยากันชักที่ถูกวิธี คือ การทานยากันชักสม่ำเสมอ เป็นเวลาตามที่แพทย์สั่ง และทานยาเป็นเวลานานอย่างน้อย 3-5 ปี
  3. การทานยากันชักนั้นไม่ควรทานยาใกล้กับอาหารหรือนม เพราะยากันชักส่วนใหญ่จับกับโปรตีนเป็นปริมาณสูง ทำให้ยาที่ออกฤทธิ์มีปริมาณน้อยลง
  4. การอดนอน นอนดึกเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น ผู้มีอาการชักจึงไม่ควรนอนดึก หรืออดนอน ต้องนอนให้พอก็จะลดโอกาสชักซ้ำได้ดี
  5. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เพราะแอลกอฮอล์นั้นจะเป็นตัวกระตุ้นการชักที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล อย่างไรก็ตามผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาเป็นประจำจนเกิดภาวะติดแอลกอฮอล์นั้น ถ้าจะหยุดเหล้าต้องปรึกษาแพทย์ เพราะการหยุดเหล้าทันที ก็อาจกระตุ้นให้ชักได้เช่นเดียวกัน
  6. ความเครียดของจิตใจ ก็ส่งผลทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้มีอาการชักจึงต้องพยายามผ่อนคลาย ไม่มีความกังวลมากนัก การทำสมาธิก็ทำให้อาการชักควบคุมได้ดีขึ้น
  7. การออกกำลังกายอย่างหนักก็เป็นปัจจัยกระตุ้นหนึ่งที่พบได้ โดยทั่วไปแล้วเราแนะนำให้ทุกคนออกกำลังกายอย่างพอดี การออกกำลังกายอย่างหนักก็จะทำให้ร่างกายเกิดความเครียด ก่อให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน
  8. ภาวะไข้สูง คนที่มีอาการชักต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการไม่สบาย มีไข้ขึ้น ต้องรีบทานยาลดไข้ทันที ไม่ให้ไข้ขึ้นสูง เพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้ง่าย
  9. การมีรอบประจำเดือนในผู้หญิง ส่วนหนึ่งเมื่อมีรอบประจำเดือนจะกระตุ้นให้ผู้หญิงมีอาการชักง่ายขึ้น ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การรักษาด้วยยาลดโอกาสชักช่วงมีรอบเดือนเพิ่มเติมเท่านั้น
  10. การผ่าตัด พบว่าการผ่าตัดจะก่อให้เกิดความเครียดเกิดขึ้นได้ง่าย ก็จะกระตุ้นให้ชักได้ง่ายขึ้น ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบด้วยเสมอ เพื่อให้การรักษาเพิ่มเติมช่วงก่อนและหลังผ่าตัด

สำคัญ ในการรักษาโรคลมชักให้ได้ผลดีนั้น นอกจากการทานยากันชักให้สม่ำเสมอแล้ว การปฏิบัติตนที่ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน