สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ตาเขออกเป็นบางครั้ง (Intermittent exotropia)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ตาเขออกเป็นบางครั้ง เป็นภาวะมีตาเขออกเป็นครั้งคราว บางครั้งตาดูตรงดี โดยตามักจะเขออกเวลามองไกล แต่เวลามองใกล้ตาอาจจะดูตรงปกติดี หรือเวลามองไกลตาเขออกมาก แต่มองใกล้เขเล็กน้อย มักจะเขออกยามเผลอหรือเวลาเหม่อหรือเวลาอ่อนเพลีย มีความเครียด หลังเจ็บไข้ อาจจะเขตอนตื่นนอนใหม่ๆ หรือเป็นเมื่อใช้สายตาไปทั้งวัน

ตาเขชนิดนี้มักเริ่มเป็นในเด็กอายุประมาณ 4 – 5 ปี (ไม่ใช่เป็นแต่เกิด) เขเห็นชัดเจนเวลามองไกลในระยะแรก เวลาอยู่กลางแจ้งเด็กมักจะหรี่ตาข้างที่เข ในระยะแรกๆ อาจมีบางช่วงตาตรงดี บางช่วงตาเข นานเข้าอาจพัฒนาเป็นตาเขออกถาวร (constant exotropia)

โดยทั่วไป ตาเขชนิดนี้มักจะไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ เนื่องจากมีการใช้สายตาได้ทั้ง 2 ข้าง และมักจะมีการใช้ตา 2 ข้างร่วมกันได้ดี ในช่วงที่ตาไม่เขเพราะเขเป็นบางเวลา อย่างไรก็ตามหากเป็นมากจนกลายเป็นตาเขออกถาวรก็อาจนำไปสู่ตาขี้เกียจหรือตา 2 ข้างไม่ทำงานร่วมกันก็ได้

สาเหตุของตาเขชนิดนี้ไม่แน่ชัด อาจจะมีประวัติตาเขในครอบครัวหรือที่เชื่อว่าอาจเป็นกรรมพันธุ์หรืออาจมีความผิดปกติของระบบประสาทที่มีการกระตุ้นกล้ามเนื้อถ่างตา (tonic divergence) มากกว่าปกติ หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ดึงตาเข้าใน (convergence) น้อยเกินไป

การติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรดูว่า ตาเขออกมากขึ้นเวลาที่เขนานขึ้น เป็นสิ่งซึ่งนำมาพิจารณารักษาและแก้ไข

การรักษาอาจทำได้โดย

1. ไม่ผ่าตัด ซึ่งทำโดย

1.1 แก้ไขสายตาที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่มีสายตาสั้นหรือตาเอียง แม้สายตาสั้นเพียงเล็กน้อยที่ปกติไม่จำเป็นต้องแก้ไข ก็ใส่แว่นตา ซึ่งอาจทำให้ตาเขดีขึ้น สำหรับสายตายาว การใส่แว่นตาแก้ไข อาจไม่ได้ช่วยให้ตาเขดีขึ้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ตรวจว่าสมควรแก้ไขด้วยแว่นตาหรือไม่

1.2 หมอบางคนแนะนำให้ใส่แว่นเลนส์เว้า ทั้งๆที่สายตาปกติ หรือใส่แว่นมากกว่าความจริง ใส่แว่นตาสั้นมากกว่าจริง จะทำให้เด็กต้องเพ่งทำให้ตาเขออกลดลง

1.3 การปิดตาเป็นครั้งคราวในตาที่ไม่เข เพื่อบังคับให้ตาเขทำงาน

1.4 อาจใช้แว่นปริซึมเพื่อปรับการหักเหของแสง แก้ภาวะตาเข

2. วิธีผ่าตัด สมควรทำในรายที่ตาเขมาก เวลาที่เขออกบ่อยขึ้น ทั้งนี้ต้องชั่งใจถึงการเสี่ยงที่จะรับการผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ เวลาที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดขึ้นอยู่กับหมอที่ดูแลรักษา และผู้ปกครองต้องทำใจไว้ว่าอาจต้องมีการผ่าตัดครั้งที่สอง หากผลการผ่าตัดครั้งแรกยังได้ผลไม่ดีนัก