สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ยาลดความดันตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

การรักษาต้อหิน ที่มีความดันตาสูงด้วยยา มักชอบใช้ในโรคต้อหินเรื้อรัง หรือต้อหินมุมเปิด โดยเริ่มรักษาด้วยยาก่อน หากยาไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ยา ทั้งไม่สะดวกที่จะใช้ยาหรือมีผลข้างเคียงจากยามาก การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ตลอดจนการผ่าตัด เป็นทางเลือกอันดับต่อไป ทั้งนี้เพราะการใช้ยาสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด

ยาที่ใช้ในการลดความดันตา

แบ่งยาที่ใช้ในการลดความดันตาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กลุ่มที่ลดการสร้างของน้ำในลูกตา
  2. กลุ่มที่ขยายทางออกหรือท่อที่น้ำในลูกตา ออกจากตา ทำให้น้ำไหลออกจากตาได้ดีขึ้น ลดความดันตาลงได้

ยากลุ่มลดการสร้างน้ำในลูกตา ได้แก่:

  1. กลุ่ม เบต้าบลอก (Beta block) ได้แก่ยาที่มีขายตามท้องตลอด เช่น Timolol, Timoptal, Glauco oph เป็นต้น กลุ่มนี้ต้องใช้วันละ 2 ครั้ง เพราะมีฤทธิ์อยู่ได้ 12 ชั่วโมง ลดความดันได้ระดับหนึ่ง แต่อันตรายสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคหอบหืด โรคปอด และโรคหัวใจที่รุนแรง อาจใช้ยากลุ่มนี้ อีกตัวหนึ่งที่เรียกกันว่า beta-1 selective beta block ได้แก่ Betaxolol เป็นต้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น
  2. กลุ่มยา Carbonic anhydrase inhibitor (CAI) เป็นยาในกลุ่ม sulfa ผู้แพ้ sulfa ต้องงดยาขนานนี้ ซึ่งมีทั้งในรูปยารับประทาน เช่น dianox, methazolamide ยากลุ่มนี้เมื่อใช้มาก อาจก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อ่อนเพลีย สูญเสียสารโพแทสเซี่ยม ผู้สูงอายุมักเกิดอาการเบื่ออาหาร ชาปลายมือปลายเท้า น้ำหนักลด อาการเหล่านี้มีมากในรูปยารับประทาน ยากุล่มนี้ในรูปยาหยอด ได้แก่ ตัวยา Dorzolamide, Brinzolamide ซึ่งควรระมัดระวังในผู้ป่วยแพ้ยา sulfa ต้องหยอดวันละ 2-3 ครั้ง
  3. กลุ่มยา adrenergic agonist ได้แก่ยา brimonidine ผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ ตาแดงมากกว่ายากลุ่มอี่น แสบตา เคืองตาเวลาหยอด แต่ค่อนข้างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ เมื่อเทียบกับยากลุ่มอื่น

กลุ่มเพิ่มการไหลออก: ประกอบด้วยตัวยา 2 กลุ่ม

  1. กลุ่มขยายท่อที่เป็นทางไหลออกบริเวณ trabecular meshwork ได้แก่ยา pilocarpine (มักมีจุกสีเขียว) นอกจากขยายทางออกแล้ว ยากลุ่มนี้ทำให้ม่านตาหดด้วย ปัจจุบัน ไม่ค่อยนิยมใช้ เพราะม่านตาหดลงทำให้ผู้ป่วยต้อหินที่มีต้อกระจกร่วมด้วย เพราะต้อทั้ง 2 ชนิด มักเกิดในผู้สูงอายุ จึงอาจตาจะยิ่งมัวลงเมื่อหยอดยา นอกจากนี้ ยาตัวนี้มักทำให้ ตาแดง ปวดตา เวลาหยอด อีกทั้งยามีฤทธิ์สั้น ต้องหยอดวันละ 3-4 ครั้ง
  2. กลุ่ม prostaglandin ได้แก่ ยาที่มีในท้องตลาดบ้านเรา ได้แก่ Lumigan, Travatan, Xalatan ยาในกลุ่มนี้เพิ่มการไหลเวียนของน้ำในลูกตาให้ออกจากทาง uveoscleral (ด้านหลังลูกตา) ข้อดีของยากลุ่มนี้คือ มีฤทธิ์อยู่นานถึง 24 ชั่วโมง ทำให้หยอดวันละครั้งเท่านั้น แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ในตาที่แดงหรือมีการอักเสบหลังผ่าตัด ปัจจุบันนิยมใช้ตัวยานี้เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยที่หยอดเพียงวันละครั้ง อีกทั้งลดความดันตาได้ดีกว่ากลุ่มอื่น

อนึ่ง ปัจจุบันมีการผลิตยาเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย โดยนำยา 2 อย่างอยู่ในขวดเดียวกัน เช่น ยาในกลุ่ม prostaglandin รวมกับ betablock เช่น Duotrav, Goungforte, Xalacom หรือ betablock ร่วมกับ Dorzolamide เช่น Cosopt ทำให้หยอดยาจำนวนครั้งลดลง สะดวก และโอกาสขาดยาลดลง ทำให้การควบคุมความดันตาทำได้ดีขึ้น