สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: กระจกตาเทียม (Keratoprosthesis)

สาระน่ารู้จากหมอตา

กระจกตาเทียม เป็นอวัยวะเทียมที่สร้างเพื่อทดแทนกระจกตาที่ผิดปกติรุนแรงถึงขั้นที่มิอาจรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนกระจกตา( corneal transplant) ได้ เป็นอวัยวะเทียมที่นำมาฝัง โดยวางทับส่วนหน้าของลูกตาแทนกระจกตาที่ฝ้าขาว โดยอวัยวะเทียมอันนี้ ตรงกลางต้องใส่เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปถึงจอตาถึงจะมีการรับภาพของจอตาเกิดขึ้น ใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคของกระจกตาอย่างรุนแรง เป็นฝ้าขาว แสงผ่านเข้าไปไม่ได้หลายๆ ราย ในระยะแรกๆ อาจรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะบริเวณตรงกลาง โดยใช้กระจกตาของผู้เสียชีวิตที่ยังใสอยู่มาแทนที่ แต่ด้วยความผิดปกติของผิวตา ตาแห้ง น้ำหล่อเลี้ยงผิวตาไม่ดี หรือมีหลอดเลือดเกิดใหม่เข้ามามากมาย (corneal neovascularization) ทำให้กระจกตาที่เปลี่ยนขุ่นมัวเหมือนเดิม แม้จะเปลี่ยนกระจกตาหลายครั้ง กระจกตาที่เปลี่ยนเข้ามาใหม่ก็จะฝ้าขาวในเวลาต่อมา จึงได้มีการคิดค้นกระจกตาเทียมขึ้น เรียกย่อๆ ว่า Kpro

กระจกตาเทียมประกอบด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่บริเวณตรงกลางเป็น optical part ที่ให้แสงผ่าน ส่วนนี้จะเป็นแท่งทรงกระบอก ทำด้วย plastic คล้ายเลนส์แว่นตาซึ่งใส ยอมให้แสงผ่านเข้าไปได้ มักจะทำให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 – 4.5 มม. ส่วนที่สองเป็นส่วนรองรับให้ส่วน optic ให้แสงทะลุกลางผ่านไป อาจจะทำด้วยวัสดุต่างๆ ในตอนแรกทำด้วย Teflon , Dacron หรือ silicone ต่อมามีผู้พบว่า หากส่วนที่สองนี้ใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง น่าจะทำให้เข้ากับเนื้อเยื่อตาที่เหลืออยู่ได้ดี ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน (rejection หรือ expulsion) หรือมีน้อยลง ในระยะแรกๆ มีความคิดใช้กระดูกกราม (maxilla) หรือกระดูกหน้าแข้ง (tibia) มาระยะหลัง มีคนคิดจะใช้รากฟันเป็นส่วนที่ 2 ประกอบกับ optical part เรียกกันว่า osteo – odonto keratoprosthesis เรียกย่อๆ กันว่า OOKP

ในปัจจุบันกระจกตาเทียมที่ใช้กันอยู่มี 3 ชนิด

  1. Boston type I และ II ประกอบด้วย optic part มีกำลังขนาดภาวะไม่มีแก้วตา (aphakia) ทั้งชิ้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 มม. เป็นกระจกตาเทียมสำเร็จรูป type II แตกต่างจาก type I เล็กน้อย เพื่อให้จัดวางได้ดียิ่งขึ้น
  2. Alpha Cor เป็นกระจกตาเทียมที่ได้รับการรับรองโดย FDA ของสหรัฐอเมริกา โดย 2 ส่วนติดกันในระดับโมเลกุลด้วย interpenetrating polymer net work ทำจาก j HEMA (poly-2-hydroxyethyl methacrylate)
  3. Osteo – odonto prosthesis (OOKP) ใช้กระดูกของผู้ป่วยเป็นส่วนที่ 2

ทั้งนี้ การผ่าตัดฝังกระจกตาเทียมมีปัญหามากมาย ได้แก่

  1. โอกาสของการหลุดออกมา (extrusion) เนื่องจากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ขนาดใหญ่ และอยู่ผิวหน้าสุด
  2. ติดเชื้อ เนื่องจากมีรอยต่อระหว่างตัวกระจกตาเทียมกับเนื้อเยื่อคนเรา อาจมีช่องว่างก่อให้เกิดสะสมของเชื้อโรค ทำให้ลูกตาอักเสบติดเชื้อได้
  3. เมื่อฝังกระจกตาเทียมแล้ว ตรวจหาภาวะต้อหินซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ยาก
  4. ตรวจส่วนหลังของลูกตาได้ยาก
  5. อาจเกิดปฏิกิริยามีพังผืดตามส่วนต่างๆ ของกระจกตาเทียม ทำให้ในระยะแรกพอมองเห็น แต่ต่อมาตากลับมัวลงได้

อีกประการ การผ่าตัด OOKP เป็นการผ่าตัดค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของลูกตาได้ จึงควรเลือกผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่มีโรคของผิวลูกตาอย่างรุนแรงจนทำให้กระจกตาเป็นฝ้าขาว ทำให้สายตามัวลงมาก ที่คาดหรือนำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วไม่ได้ผล ได้แก่ ภาวะ chemical burn , Steven Johnson , severe dry eye เป็นต้น
  2. มีความผิดปกติข้างต้นในตาทั้ง 2 ข้าง หรือผู้ป่วยมีตาเดียว ตาอีกข้างบอดสนิทหรือฝ่อจากโรคอื่นที่ไม่มีทางรักษาแล้ว
  3. ส่วนหลังจอตา ประสาทตายังปกติดี

การทำผ่าตัดมี 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. ปรับผิวตาของผู้ป่วยด้วยการเลาะพังผืดที่อยู่ด้านหน้าออก ใช้เยื่อบุผิวจากบริเวณช่องปาก (buccal mucosa) มาวางด้านหน้า ปรับให้เป็นเยื่อบุตาแทนเยื่อบุตาเดิมของผู้ป่วย
  2. เตรียม keratoprosthesis ในกรณีใช้ OOKP โดยทันตแพทย์ตัดกระดูกบริเวณรากฟันมาแว่นหนึ่ง ในกรณีใช้ฟันเป็นส่วนหนึ่งเจาะรูตรงกลางเพื่อสอดแท่ง PMMA เข้าไปต้องเชื่อมรอยต่อให้สนิท นำไปฝังในร่างกายผู้ป่วยบริเวณพุ้งแก้มให้มีเนื้อเยื่อของผู้ป่วยมาคุม keratoprosthesis นี้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
  3. หั่นกระจกตาผู้ป่วยออกเป็นแว่น ร่วมกับการเจาะรูม่านตา รวมทั้งเอาแก้วตาออก นำKeratoprosthesis มาฝังแทน โดยให้แท่ง PMMA โผล่มาด้านหน้า อีกด้านหนึ่งเข้าไปใน anterior chamber

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการผ่าตัดที่ยุ่งยาก แต่อาจถือว่าเป็นทางเดียวที่จะช่วยผู้ป่วยสายตาเลือนลงจากโรคกระจกตาที่รุนแรงให้กลับมาเห็นได้ ในปัจจุบันมีการทำอย่างแพร่หลาย รวมทั้งในประเทศไทย มีทำกันในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ผลของการผ่าตัดยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน มีแต่ในต่างประเทศที่นับว่าพอใช้ได้