สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: อันตรายจากแสงสีน้ำเงิน (Blue light hazard)

สาระน่ารู้จากหมอตา

คนส่วนมากจะทราบกันดีว่า รังสียูวีให้โทษต่อตา ในปัจจุบันเลนส์แว่นตาส่วนใหญ่จึงมักเคลือบสารกันยูวี ในความเป็นจริงรังสีน้ำเงินซึ่งถือเป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นสั้นใกล้กับแสงยูวี บางคนจึงเรียกว่า รังสี near UV ทั้ง ยูวี และรังสีน้ำเงิน มีพลังสูงก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี (photochemical change) ในจอตาได้พอๆ กัน แต่ด้วยดวงตาคนเรา ผิวตา กระจกตาและแก้วตาสามารถดูดซับรังสียูวีไว้ได้เกือบหมด มีรังสียูวีเอ ที่เล็ดลอดไปถึงจอตาได้เล็กน้อย ส่วนรังสีสีน้ำเงิน ถูกดูดซับด้วยกระจกตาและแก้วตาได้น้อยกว่าจึงผ่านไปถึงจอตาได้มากกว่า รังสีสีน้ำเงินจึงเชื่อว่าอาจทำลายจอตาได้มากกว่า

รังสีน้ำเงิน ที่มีในธรรมชาติมาจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ในปัจจุบันรังสีสีน้ำเงินที่มนุษย์ทำขึ้นจากอุปกรณ์ทาง electronic มีมากขึ้น กล่าวคือหลอดไฟฟ้าธรรมดา หลอดไฟ halogen มีรังสีสีน้ำเงินน้อยมากประมาณ 3% ขณะที่หลอดฟลูออเรสเซนมีถึง 26% โดยเฉพาะ cool white LED มีถึง 35% โดยหลักการคือ visual display unit ให้รังสีสีน้ำเงินมากกว่าปกติ จึงเป็นที่ฮือฮาสำหรับคนที่ทำงานอยู่หน้าเครื่องเหล่านี้ จะได้รับรังสีสีน้ำเงินมากเกินไป

ได้มีการศึกษาพบว่า เมื่อจอตาได้รับรังสีสีน้ำเงินมีความผิดปกติของจอตาที่ตรวจได้ด้วยการตรวจพิเศษ โดยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำที่แขน (FFA) ให้สารสีเข้าไปตามหลอดเลือดถึงหลอดเลือดที่จอตาพบความผิดปกติเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่มีผลต่อการมองเห็นตลอดจนการศึกษาด้วย electrophysiology พบความผิดปกติของ electroretinogram ( ERG) ชัดเจน จึงเชื่อว่าน่าจะมีผลต่อเซลล์ในจอตาของคนเราบ้าง ประกอบกับคนเราสร้างเครื่อง electronic ที่ให้รังสีนี้มากขึ้น รวมทั้งอายุที่ยืนขึ้นทำให้จอตาได้รับรังสีนี้มากขึ้นไปด้วย เชื่อว่ารังสีสีน้ำเงินทำลายจอตาจากการได้รับรังสีน้อยๆ แต่เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีผู้รายงานว่าผู้ได้รับรังสีสีน้ำเงินมากจะมีการเห็นสีผิดปกติประเภทตาบอดสีชนิดพร่องสีเขียว จึงเชื่อว่าน่าจะมีการทำลาย เซลล์ cone สีเขียว

ในการวิจัยโดย Janet Sparrow พบว่ารังสีสีน้ำเงินจะดูดซึมเข้าไปใน lipofuscin fluorophore A2E ซึ่งเป็น major photosensitive lipofuscin ที่มีในเซลล์ RPE ของจอตา กล่าวกันว่า Lipofuscin นี้เป็น aging pigment เพราะมีมากในคนสูงอายุ และรังสีสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่น 441 nm เป็นช่วงที่ทำลายจอตาได้มากที่สุด เมื่อ lipofuscin นี้ ถูกรังสีสีน้ำเงิน จะเกิดกลไก oxidation ก่อให้เกิด reactive oxygen species (ROS) ที่ทำลาย polyunsaturated fatty acid ที่มีใน cell membrane ทำให้ cell ทำหน้าที่ phagocytosis ได้ไม่ดี จึงมีของเสียจาก lipofuscin มากขึ้น ทำลายทั้ง RPE และเซลล์รับรู้การเห็น (photoreceptor cell) ตัว ROS ยังก่อให้เกิด singlet oxygen, hydrogen peroxide ตลอดจน free radical สารอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในตาคนเรา ธรรมชาติสร้างให้มีกระบวนการปกป้องลูกตาจากรังสีสีน้ำเงิน ได้แก่

  1. มีการศึกษาพบว่า ในกระจกตาคนเราเมื่ออายุประมาณ 2+ ปีขึ้นไป จะมีสารสีเหลือง ซึ่งทำหน้าที่กรองรังสีสีน้ำเงินไว้ ทำให้ส่วนที่จะลงลึกถึงจอตาลดลงได้ระดับหนึ่ง
  2. แก้วตาคนเรามีสารสีเหลืองซึ่งกรองแสงสีน้ำเงินเอาไว้ได้จำนวนหนึ่ง ยิ่งเมื่อคนเราอายุมากขึ้น แก้วตาเสื่อมลงตามอายุ มีสารสีเหลืองมากขึ้น ซึ่งจะดูดซับรังสีสีน้ำเงินได้ดีขึ้น แต่เมื่อไปรับการผ่าตัดเอาแก้วตาออก โอกาสจอตาได้รับรังสีสีน้ำเงินมีมากขึ้น นอกเสียจากได้ฝังแก้วตาเทียมที่ดูดซับรังสีสีน้ำเงินไว้
  3. ที่ระดับจอตา มีสารสีชื่อ luteal pigment ที่มีมากที่เซลล์รับรู้การเห็นบริเวณ macula มีส่วนช่วยกรองรังสีสีน้ำเงินได้มาก เป็นการปกป้องส่วนอื่นๆ ของจอตาได้

โดยสรุป แม้ว่าร่างกายคนเรามีกลไกในการปกป้องจอตาจากอันตรายจากรังสีสีน้ำเงินอยู่ หากในปัจจุบัน มีการใช้เครื่อง electronic มากขึ้นๆ เครื่องเหล่านั้นให้รังสีสีน้ำเงินออกมามาก สำหรับบุคคลที่ทำงานหรือใช้เครื่องมือเหล่านี้มาก การใช้แว่นที่กันรังสีนี้ ก็อาจจะมีเหตุผลพอสมควร ทั้งนี้เลนส์ดังกล่าวต้องไม่แพงเกินไป เลนส์เหล่านี้ไม่น่าจะจำเป็นสำหรับคนทุกคน ควรใช้ใน

  1. ผู้ที่ทำงานอยู่หน้า visual display unit ตลอด
  2. ผู้ที่มีประวัติหรือมีจอตาเสื่อมในตาข้างหนึ่ง (Age macular degeneration)
  3. มีการตรวจพบลักษณะหรือเริ่มมีอาการแสดงของภาวะจอตาเสื่อม