สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: นำเด็กอายุ 3-5 ปี มาตรวจตากันเถอะ

สาระน่ารู้จากหมอตา

หลาย ๆ ท่านคงไม่ทราบว่า คนเราเมื่อเกิดใหม่แม้จะท้องครบกำหนดก็ตาม การพัฒนาทางสายตายังไม่เท่าผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่มีลูกตา จอตา ครบปกติ เมื่อเด็กลืมตา มีแสงกระทบจอตา การพัฒนาการเห็นจะเริ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการพัฒนาค่อนข้างรวดเร็วในช่วงอายุ 3-12 เดือน และเกือบเท่าผู้ใหญ่ (สายตาเห็นเต็มที่) เมื่ออายุประมาณ 4 ปี ระหว่างนี้หากมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ทำให้จอตาไม่พัฒนาไปในทางที่ควรเป็น เช่น มีอะไรบังมิให้แสงเข้าตาในกรณีเป็นต้อกระจกแต่กำเหนิด หรือหนังตาลงมาปิดตาข้างหนึ่ง การพัฒนาสู่การมองเห็นของตาข้างนั้นจะชะงักไปโดยที่เด็กหรือผู้ปกครองไม่ทราบ โดยเฉพาะเป็นตาข้างเดียว เพราะเด็กใช้สายตาข้างที่ปกติได้ แม้แต่การมีสายตาผิดปกติ เช่น เด็กมีสายตาสั้นมากอยู่ข้างหนึ่ง ข้างนั้นแสงไม่โฟกัสที่จอจา ภาพจะไม่ชัด จอตาก็จะไม่มีการพัฒนา ให้รับรู้การเห็นเท่าตาดีที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า ตาขี้เกียจ (lazy eye)

แน่นอนที่การตรวจตั้งแต่แรก เช่น ตั้งแต่เกิดเลยน่าจะดีกว่ามาตรวจตอน 3 ขวบ แต่เนื่องจากการมองเห็นเป็นความรู้สึกรับรู้ในรูปการมองเห็นด้วยอวัยวะสัมผัสคือตา ต้องเป็นการสอบถามที่สื่อกันได้ เรียกว่าเป็น subjective test เด็กเล็ก เราคงให้เขาบอกเราว่าเห็นหรือไม่ ไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องวัดสายตาในเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบจริง ๆ คงต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งอาจบอกไม่ได้ละเอียดว่ามีสายตาเป็นเท่าไร บอกได้คร่าว ๆ ว่าน่าจะเห็นได้ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กควรอาศัยพฤติกรรมทั่วไป ง่าย ๆ โดยผู้ปกครองสังเกต เช่น เด็กควรจ้องหน้าแม่หรือพี่เลี้ยงได้ตอนอายุ 2 เดือน อายุ 6 เดือนควรมองตามวัตถุได้ เป็นต้น

เมื่อเด็กอายุ 3 ปี เตรียมเข้าเรียนอนุบาล มักจะสื่อกันได้พอสมควร และให้ความร่วมมือในการตรวจยิ่งขึ้น จึงเป็นวัยที่เหมาะที่จะรับการตรวจตา ทดสอบการมองเห็นจากรูปที่เด็กคุ้นเคย ตรวจหาภาวะตาเข ซึ่งมักพบในเด็กวัยนี้ (บางรายอาจมีตาเขตั้งแต่เกิด)

ประโยชน์ที่ได้จากการนำเด็กวัยนี้มารับการตรวจตา ได้แก่

  1. ตรวจหาโรคตาบางอย่างที่อาจเป็นมาแต่กำเนิด แต่ออกมาในรูปของสูญเสียหรือลดสมรรถภาพการมองเห็น ซึ่งไม่เจ็บไม่ปวด ทำให้เราละเลยในการรับการรักษาตั้งแต่ต้น ๆ
  2. อาจพบความผิดปกติทางตาที่เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคทางกายประเภท metabolic syndrome ทั้งหลาย
  3. โรคตาก็เหมือนโรคทั่วไป การรักษาเร็วน่าจะได้ผลดีกว่า
  4. โรคตาที่ทำให้สายตามัวลง มักจะไม่มีอาการเจ็บปวด การรอให้มีอาการก่อนค่อยมารับการตรวจอาจจะสายเกินไป
  5. เนื่อจากเรามีตา 2 ข้าง ถ้ามีความผิดปกติข้างใดข้างหนึ่ง เด็กจะไม่ทราบถึงความผิดปกติในตาอีกข้างเลย เพราะมองเห็นได้ด้วยตาข้างดี ถ้าได้รับการตรวจ ทดสอบจะบอกได้ดีว่ามีข้างไหนเสีย
  6. ความผิดปกติบางอย่างทางตา เช่น สายตาสั้นมาก ตาเข อาจทำใหเกิดภาวะตาขี้เกียจ ในบางรายหากมารับการรักษาหลังอายุ 6 ปีขึ้นไป มักจะไม่ได้ผลในการรักษา เป็นที่น่าเสียดาย เพราะรักษาง่ายมากเพียงกระตุ้นแก้ไขสายตาผิดปกตินั้น เด็กก็จะมีสายตาที่ปกติทั้ง 2 ข้าง การเห็นด้วยตาข้างเดียวเกิดข้อจำกัดในบางอาชีพที่ต้องใช้ตา 2 ข้างร่วมกัน เพื่อให้เห็นภาพเป็น 3 มิติ (stereopsis) ซึ่งตาเดียวไม่มี
  7. หากบุตรหลานมีสายตาไม่ดี แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่อาจจะลดอาการที่เกิดจากสายตาไม่ดีแล้วไม่แก้ไข เช่น มีอาการแสบตา เคืองตา กลัวแสง การเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เพียงเท่านี้ก็คุ้มในการตรวจแก้ไขแล้ว