สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: กลไกของจอตาหลุดลอก

สาระน่ารู้จากหมอตา

ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะจอตาหลุดลอกชนิดที่เรียกว่า rhegmatogenous retinal detachment (RRD) ซึ่งหมายถึงชนิดที่มีจอตาฉีกขาดเท่านั้น

คำว่า rhegma เป็นภาษากรีก แปลว่า ฉีกขาด ภาวะนี้จึงหมายถึงจอตาลอกชนิดที่มีจอตาฉีกขาดเท่านั้น เกือบทั้งหมดของจอตาลอกชนิดนี้ตรวจพบมีจอตาฉีกขาด เป็นที่น่าสงสัยว่ามีคนรายงานพบจอตาฉีกขาดได้ถึงร้อยละ 8 ของคนปกติ แต่มีเพียง 2 คน ใน 1000 คน ที่มีจอตาฉีกขาดนี้มีจอตาหลุดลอก จึงน่าจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้จอตาหลุดลอก นอกเหนือจากการมีจอตาฉีกขาด หรือมีคนจำนวนไม่มากนักที่มีจอตาฉีกขาดแล้วจะมีจอตาหลุดลอก

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึงกายภาพของจอตาที่เป็นเนื้อเยื่อบางๆ บุอยู่ภายในลูกตาถือเป็นส่วนประสาทรับรู้การเห็นนั้นแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนนอก (outer retina) ได้แก่เซลล์ที่เรียก retinal pigment epithelium กับ ส่วนในหรือ inner retina ที่เรียกกันว่า sensory retina เป็นส่วนของระบบประสาทที่เกี่ยวกับการเห็นตัวจริง เวลาที่จอตาหลุดลอกนั้น ชั้น sensory retina หลุดลอกจากชั้นนอก และในคนทั่วไปมีโอกาสหลุดลอกน้อยด้วยกลไกที่มีการยึดแน่นด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง

  1. Vitreous ซึ่งเป็นน้ำวุ้นหนืดๆ อยู่เต็มลูกตาจะไปทาบกับผิวจอตาทั้งหมดทำให้จอตาไม่หลุดลอก
  2. เซลล์ของจอตาชั้นนอก คือ retinal pigment epithelium (RPE) จะยึดกับเซลล์ในชั้น sensory retina คือ เซลล์ที่รับรู้การเห็น (photoreceptor) ไว้ แม้จะยึดด้วยแรงไม่มากนัก แต่ด้วยความสามารถในการดูดซึมสารต่างๆ ของ RPE โดยเฉพาะหากมีน้ำแทรกอยู่ตัว RPE จะดูดน้ำนี้เข้าตัวนั้นและถ่ายไปยังชั้น choroid ข้างใต้ต่อไป เมื่อน้ำไม่มากและถูกดูดออกด้วย RPE จอตาก็จะไม่หลุดลอก
  3. ความดันตา ในคนปกติความดันตาจะอยู่ระหว่าง 10 – 18 มม.ปรอท ส่วนมากจะสูงกว่า 10 มม. ปรอท ซึ่งความดันนี้จะกระจายอย่างสม่ำเสมอไปยังทุกจุดของผิวจอตาจะกดจอตาให้ติดแน่นกับ RPE แนบสนิทตอลดเวลา

ด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ข้างต้น คนส่วนใหญ่จึงไม่มีจอตาหลุดออกมา แล้วผู้ที่มีจอตาหลุดล่ะ เป็นเพราะมีปัจจัยเสี่ยงอะไรจึงทำให้เกิด แต่เดิมภาวะนี้เรียกกันว่า idiopathic retinal detachment คือจอตาหลุดเองโดยไม่ทราบสาเหตุจนกระทั่งคุณหมอ Schepens เปลี่ยนมาเรียกว่า RRD เพราะเมื่อพบว่าหากอุดรูรั่วที่จอตาได้ จอตาจะกลับมาติดเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามด้วยความสังเกตและการศึกษาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่พบในผู้ป่วย RRD ดังนี้

  1. จอตา พบมีการเสื่อมลงตามอายุ แต่บางคนความเสื่อมนี้นำมาซึ่งจอตาฉีกขาด ได้แก่ ภาวะ cystoid degeneration , lattice degeneration และอื่นๆ นำมาซึ่งจอตาฉีกรูปเกือกม้า (horse shoe tear) มี retinal dialysis , giant retina tear เป็นต้น
  2. มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำวุ้นตา โดยที่น้ำวุ้นจากลักษณะหนืดๆ คล้ายไข่ขาว เมื่อแรกเกิด พออายุมากขึ้น น้ำวุ้นบริเวณกลางเสื่อมสภาพกลายเป็นน้ำใสเป็นช่องๆ นานเข้าช่องเหล่านี้รวมกันใหญ่ขึ้นและกระจายออกไปข้างๆ ทำให้ posterior hyaloid membrane (ส่วนนอกของน้ำวุ้น) ทะลุเป็นรูที่เรียกกันว่า posterior vitreous detach (PVD) เมื่อตาเรากลอกไปมาทำให้น้ำ vitreous แกว่งไปมา เข้าไปอยู่ข้างใต้ หากไปตรงกับจอตาที่มีรอยฉีกขาด น้ำวุ้นนี้ก็จะแทรกเข้าไปตามรูที่ขาดไปอยู่ใต้จอตาเกิด RRD
  3. การเปลี่ยนแปลงที่ RPE หรือร่วมกับชั้น choroid (อยู่ใต้ RPE) มักจะมีการเสื่อมตามความเสื่อมของจอตา (ในข้อ 1 ) ทำให้คุณสมบัติในการยึดจอตาหรือดูดซับน้ำเสียไป

อย่างไรก็ตาม การเกิด RRD จะต้องมีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่

  1. มีจอตาฉีกขาด
  2. น้ำวุ้นเสื่อม กลายเป็นน้ำ
  3. มีแรงดึง (vitreous traction) ที่พยายามเซาะขอบจอตาที่ฉีกขาดให้เผยอหลุดจาก RPE ทำให้น้ำวุ้นที่ใส่เข้าไปแทรกและกระพือให้จอตาหลุดมากขึ้นๆ สำหรับกรณีของ giant retina tear อาจไม่ต้องมีแรงเซาะนี้ แต่จอตาขาดเป็นวงกว้างอาจม้วนตัวลงมา ทำให้หลุดจากที่เดิมมากขึ้น