สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: กระดูกเบ้าตาภายในแตก (Blow out or internal fracture)

สาระน่ารู้จากหมอตา

เบ้าตา เป็นโครงเกิดจากกระดูก 7 ชิ้น รวมตัวกันเป็นรูปกรวย ปากกรวยโผล่มาด้านหน้า แล้วสอบเล็กลงไปด้านหลัง จึงมีรูปเป็นโพรงให้เส้นประสาทตาทะลุผ่านไปยังสมอง เบ้าตาจึงเป็นโพรงที่เป็นที่อยู่ของลูกตา (eye ball) กล้ามเนื้อกลอกตา ไขมัน หลอดเลือดและเส้นประสาทต่างๆ

เบ้าตาก็เหมือนกระดูกส่วนอื่นของร่างกาย แม้จะแข็ง คงทน แต่ก็อาจแตกหักด้วยอุบัติเหตุกระแทกอย่างแรง อาจจะเป็นการแตกลามต่อจากขอบของเบ้าตาไปทางพื้นของเบ้าตา หรือแตกที่พื้นเบ้าตาโดยไม่มีการแตกของขอบเบ้าตาที่เรียกกันว่า internal orbital fracture หรือ blow out fracture ซึ่งจะกล่าวละเอียดในที่นี้

สาเหตุส่วนมากเกิดจากแรงกระแทกที่เบ้าตา ด้วยวัตถุที่ใหญ่กว่าขอบเบ้าตา (ขอบเบ้าตามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 ซม.) เช่น ลูกบอลล์ ลูกเทนนิส กำปั้นจากการถูกชก เป็นต้น ทำให้เกิดแรงอัดภายในโพรงเบ้าตา ผนังเบ้าตาถูกดันจนแตกออก (เป็นที่มาของชื่อ blow out) มักจะแตกที่พื้นของเบ้าตาหรือที่ผนังด้านในของเบ้าตาที่เป็นกระดูกที่บางกว่าบริเวณอื่น โดยที่ขอบหน้าไม่มีการแตกหัก ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ในเบ้าตา ถูกดันออกไปตามรอยแตก ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

  1. หนังตาบวม เขียว ช้ำ จากมีเลือดออกบริเวณนั้น เป็นลักษณะอันแรกที่น่าจะนึกถึงว่า ผู้ป่วยอาจมีภาวะนี้เกิดขึ้น
  2. มีปัญหาของการกลอกตาในแนวตั้ง คือ ชั้นบนหรือลงล่างได้ไม่เต็มที่ ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพเป็น 2 ภาพ ในแนวตั้ง (vertical diplopia) ร่วมกับเจ็บเวลากลอกตาในแนวตั้ง จากการที่กล้ามเนื้อที่ใช้กลอกตาชื่อ inferior rectus ถูกผลักเข้าไปในร่องกระดูกที่แตก จึงทำงานไม่ได้เต็มที่ทำให้กลอกตาในแนวดิ่ง ติดขัด หากแรงกระแทกรุนแรง เกิดเลือดออกมากในเบ้าตา เนื้อเยื่อในเบ้าตาบวมช้ำ อาจทำให้ผู้ป่วยกลอกตาไม่ได้ทุกทิศทางเช่นกัน
  3. ลูกตายุบไปข้างหลัง (enophthalmos) เนื่องจากเนื้อเยื่อต่างๆในเบ้าตา หลังลูกตา ถูกดันออกจากเบ้าตาผ่านบริเวณที่แตก ลูกตาจึงถูกร่นไปด้านหลัง ทำให้ลูกตายุบลงไปด้านหลัง
  4. มีอาการชาบริเวณใบหน้ารอบๆดวงตา โดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้ม
  5. มีลมหรืออากาศแทรกอยู่ใต้หนังตา เวลาคลำหรือจับรู้สึกได้ว่ามีอากาศอยู่ (emphysema) เนื่องจากกระดูกที่แตกลึกเข้าไปถึงไซนัส/โพรงอากาศด้านข้างของจมูก ซึ่งมีอากาศอยู่ ทำให้อากาศรั่วมาอยู่ใต้ผิวหนัง
  6. อาจมีสายตามัวลง จากมีรอยช้ำของเส้นประสาทตาได้

ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ หลังจากได้รับอุบัติเหตุ แพทย์จะต้องทำการตรวจดูว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับทดสอบภาวะ diplopia ตรวจดูว่า มีกล้ามเนื้อ inferior rectus ติดอยู่บริเวณกระดูกที่แตกหรือไม่ ด้วยการทำ CT Scan(เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)ภาพเบ้าตา เพื่อดูว่ามีรอยกระดูกแตกขนาดไหน

แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีรอยแตกไม่มาก ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซ่อมแซม เพราะหายได้เอง อย่างไรก็ตามควรจะเฝ้าสังเกตในเวลา 7 – 10 วัน ให้อาการบวมยุบลง (อาจให้ยาลดบวมร่วมด้วย) แล้วประเมินผลใหม่ว่า จะต้องแก้ไข ด้วยวิธีผ่าตัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการที่เป็น โดยมีแนวทางการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ดังนี้

  1. ผู้ป่วยยังมีอาการเห็นภาพซ้อน เวลามองตรง ภายใน 30 องศา ในแนวตั้ง หลัง 7-10 วันไปแล้ว ร่วมกับผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ยืนยันมีรอยแตกของกระดูกชัดเจน
  2. ลูกตายุบลงไปมากกว่า 2 มม. ซึ่งแลดูไม่สวยงาม ร่วมกับผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ยืนยันว่ามีกระดูกแตก ทั้งนี้โดยทั่วไป ถ้าหลังอุบัติเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกตายังยุบมากกว่า 2 มม. บ่งถึงรอยแตกที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งถ้าทิ้งไว้ลูกตาอาจยุบลงไปได้อีก
  3. มีรอยแตกของพื้นเบ้าตา ขนาดยาวกว่าครึ่งของพื้นเบ้าตา โดยเฉพาะถ้ามีการแตกของผนังเบ้าตาด้านใน/ด้านข้างจมูก (medial wall) เห็นจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รอยแตกขนาดนี้ มักทำให้เนื้อเยื่อยุบเข้าไปมาก ทำให้ลูกตายุบลงไปมาก

โดยสรุป หากได้รับอุบัติเหตุกระแทกเบ้าตา เพิ่มแรงอัดเข้าเบ้าตา มีรอยฟกช้ำรอบๆตา ร่วมกับการติดขัดหรือกลอกตาในแนวดิ่งไม่ได้ ควรปรึกษาหมอตา/จักษุแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง