สาระน่ารู้จากหมอตา : ตอนที่ 2 ตาบอด ตาเห็นเลือนราง และโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในเด็กอายุ 1 – 14 ปี

ในการประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยจักษุ เมื่อวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2555 แพทย์หญิงขวัญใจ วงศกิตติรักษ์และคณะ ได้เสนองานวิจัยเรื่องนี้ โดยการสำรวจภาวะโรคตาในเด็กอายุ 1 – 14 ปี จำนวน 2,743 คน โดยวิธีสุ่มตัวอย่าง เมื่อปี 2549 – 2550 พบว่า -เด็กวัยนี้มีตาบอดร้อยละ 0.11 -เห็นเลือนรางร้อยละ 0.21 โดยโรคที่เป็นสาเหตุตาบอด พบว่า เกิดจากจอตาเสื่อมในทารกคลอดก่อนกำหนด (จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด) ร้อยละ 66.67 ภาวะตาขี้เกียจจากสายตาสั้นมาก (สั้น 900 ขึ้นไปในตาทั้ง 2 ข้าง) ร้อยละ 33.33 และโรคที่เป็นสาเหตุของสายตาเลือนรางในวัยเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะตาขี้เกียจจากสายตาสั้น ปานกลางถึงมาก(สั้น 600 ถึง 1000) ถึงร้อยละ 28.55 ตามด้วยโรคทางสมอง ต้อกระจกแต่กำเนิด ประสาทตาฝ่อ ความผิดปกติของกระจกตาและภาวะตาแกว่ง (nystagmus) อย่างละร้อยละ 14.29

จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า โรคตาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ ที่ทำให้การมองเห็นลดลง ได้แก่ ภาวะสายตาผิดปกติ ตาเข ตาขี้เกียจ ต้อกระจก โรคของกระจกตา โรคจอตาเสื่อมในเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ส่วนโรคตาที่ทำให้เกิดความไม่สบายในดวงตา แต่ไม่ทำให้ตามัว ได้แก่ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ท่อน้ำตาอุดตัน กุ้งยิง และเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ

ผลจากการสำรวจดังกล่าว สิ่งที่ควรเพ่งเล็งเพื่อให้ลูกหลานของเราซึ่งจะต้องเติบใหญ่เป็นพลังของชาติเราในภายภาคหน้ามีสายตาที่ดีโดยสนใจไปที่

1. เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ควรได้รับการตรวจจอตา ในเด็กที่

  • น้ำหนักแรกเกิดเท่ากับหรือต่ำกว่า 1500 กรัม -มีอายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 สัปดาห์
  • และทารกแรกเกิดน้ำหนักระหว่าง 1500 – 2000 กรัม หรืออายุครรภ์มากกว่า 30 สัปดาห์ ที่มีปัญหาความผิดปกติทางกายต่างๆ

2. ตรวจตาและวัดสายตาเด็กที่มีอายุ 3 – 5 ปี ทุกราย หากมีสายตาผิดปกติ หรือ ตาเข ควรให้การรักษาทันที เพื่อป้องกันภาวะตาขี้เกียจที่อาจเกิดขึ้น การที่ต้องตรวจตาในเด็กวัยนี้เพราะเป็นวัยที่พอจะให้ความร่วมมือได้ดีกว่าที่อายุน้อยกว่านี้

การมองไม่ชัดจากภาวะหลายๆอย่าง เด็กบอกไม่ได้ อีกทั้ง นอกจากมองไม่ชัดแล้ว เด็กอาจไม่มีอาการอย่างอื่น เช่น ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา จึงอาจทำให้ผู้ปกครองละเลย คิดว่าเด็กมีสายตา หรือ ตาที่ปกติ โดยเฉพาะที่ตามัวข้างเดียว ยิ่งจะไม่มีอาการแสดงอะไรเลย

ภาวะบางอย่างทางตาดังกล่าว หากปล่อยทิ้งไว้จนเด็กโตขึ้น อาจไม่มีทางแก้ไข หรือแก้ไขได้ไม่ดีเท่าแก้ไขตั้งแต่แรกๆ ตลอดจนการกำจัดโรคตาขี้เกียจ (amblyopia) ออกไป แม้แต่ภาวะตาเข หากแก้ไขตั้งแต่เป็นเด็ก จะทำให้เด็กมีการใช้สายตา 2 ข้างร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ