สาระน่ารู้จากหมอตาตอน ใครกันที่เสี่ยงต่อการเกิดตาขี้เกียจ

สาระน่ารู้จากหมอตา

โรคหรือภาวะ amblyopia (ตาขี้เกียจ) เป็นภาวะที่อาจเกิดในตาข้างหนึ่ง (ส่วนมาก) หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยมีการมองเห็นลดลง ทั้งๆที่ไม่พบโรคที่อาจเป็นสาเหตุ หรือถ้ามีโรคก็แก้ไขแล้ว แต่ตาก็ยังมัวอยู่ เป็นภาวะที่เกิดในเด็กขณะที่กำลังอยู่ในระยะมีการพัฒนาของสายตา กล่าวคือ เด็กแรกเกิดแม้จะมีส่วนต่างๆของตาครบถ้วน แต่การมองเห็นยังไม่เท่าผู้ใหญ่ จากนั้นมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การมองเห็นดีขึ้นจนเท่าผู้ใหญ่ในอายุประมาณ 10 ขวบ ระหว่างที่กำลังมีการพัฒนาการมองเห็น ถ้าเกิดมีเหตุอะไรมาปิดบังการมองเห็นเป็นระยะเวลาพอสมควร การพัฒนาเพิ่มการมองเห็นข้างนั้นจะเสียไป ถ้านานพอตา ข้างนั้นมีการหยุดชะงักของการพัฒนา แม้ตอนหลังมาแก้ไขสิ่งที่ชะลอการพัฒนาออกก็ไม่ได้ผล ตรงกันข้ามในตาผู้ใหญ่ที่มีการพัฒนาเต็มที่แล้ว เกิดภาวะบางอย่างมาปิดตาข้างหนึ่ง แม้จะนานหลายปี พอเอาสิ่งกีดขวางนั้นออก สายตาจะกลับมาดีเหมือนเดิม

ภาวะตาขี้เกียจรักษาได้ไม่ยาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ทำให้มารักษาช้า จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากภาวะตาขี้เกียจนี้ไม่มีพยาธิสภาพที่ตาเป็นส่วนใหญ่ การตรวจจึงมักไม่พบอะไร หรือถ้าพบก็แก้ไขแล้ว ตาก็ยังมัวอยู่ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วอยู่ที่ผู้ปกครองต้องเฉลียวใจว่าอาจมีโรคตาขี้เกียจในลูกหลานของตัวเอง ภาวะที่เป็นเหตุของตาขี้เกียจ 3 ประการ ได้แก่ ตาเข สายตาปกติมีสิ่งบดบังการมองเห็น ก่อให้เกิด strabismic amblyopid (พบบ่อยสุด), refractive amblyopid (พบรองลงมา), และ stimulus deprivation amblyopid (พบน้อยที่สุด แต่รักษายากที่สุด)

1. strabismic amblyopia เป็นตาขี้เกียจที่พบบ่อยสุด สังเกตได้จากเด็กที่มีตาเขข้างเดียวประจำ หากเด็กที่ผู้ปกครองพามาพบแพทย์ว่า สงสัยเด็กมีตาเขแต่บอกไม่ได้ว่าข้างไหน ในกรณีนี้มักจะไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตาผลัดกันเขไม่เกิดโทษอะไร แม้จะไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ แต่ขาดการทำงานร่วมกันของตา 2 ข้าง คุณภาพการเห็นลดลง มองภาพไม่มี stereopsis ซึ่งอาจอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานบางอาชีพในภายภาคหน้า แต่ถ้าเป็นกับตาข้างใดข้างหนึ่งเสมอ หรือบ่อยกว่ามากๆ จนผู้ปกครองมาแจ้งว่า ตาขวาเข เช่นนี้มีโอกาสเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ อีกประการเด็กตาเขน้อยมากที่เรียก Microstrabismus ก็เป็นต้นเหตุของ amblyopia ได้

2. Refractive amblyopia สายตาที่ผิดปกติทั่วไปมักไม่มีตาขี้เกียจ แต่พบได้บ้างขึ้นกับสายตาที่ผิดปกตินั้นเป็นอะไรและมากแค่ไหน โดยเฉพาะสายตาที่ต่างกัน 2 ข้าง เช่น ถ้าสายตาสั้นสองข้างต่างกันน้อยกว่า 300 มักไม่เกิด แต่ถ้าต่างกันมากกว่า 600 มักจะเกิด ในขณะที่สายตายาวหรือเอียงสองข้างต่างกันเพียง 100 ถึง 300 อาจจะเกิดได้ ภาวะตาขี้เกียจจากสายตา 2 ข้างต่างกัน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากแลไม่เห็นความผิดปกติ ตามักจะไม่เข เด็กยังมองเห็นด้วยตาข้างดี กรณีนี้เรียก Axisometropia amblyopia

ในกรณีสายตาผิดปกติอีกภาวะหนึ่ง ได้แก่ สายตาสั้น ยาว เอียงมากทั้ง 2 ตา เช่น สายตายาวมากกว่า 500 ทั้ง 2 ตา สั้นมากกว่า 600 หรือสายตาเอียงมากกว่า 200 ขึ้นไป แม้สายตา 2 ข้าง ไม่ต่างกันมาก (isometropia amblyopia) อาจทำให้เกิดตาขี้เกียจทั้ง 2 ตา

3. Stimulus deprivation amblyopia พบน้อยกว่า 2 ชนิดแรก จากการมีสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็นที่ภาวะนี้พบโรคได้ง่าย เพราะเห็นพยาธิสภาพ ที่พบบ่อย ได้แก่ ต้อกระจกแต่กำเนิด แผลเป็นที่ตาดำแต่กำเนิด ตลอดจนน้ำวุ้นตาขุ่น เป็นภาวะตาขี้เกียจที่เป็นเร็วและรุนแรง รักษายากสุด สิ่งบดบังหากเกิดขึ้นในอายุน้อยมักเกิดภาวะตาขี้เกียจได้มากกว่าพบในเด็กอายุมากขึ้น เช่น พบต้อกระจกบริเวณตรงกลาง (central opacity) ขนาดกว้าง 3 มม. ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะเกิดตาขี้เกียจได้มากกว่า ต้อกระจกขนาดเดียวกันในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี เป็นต้น

โดยสรุป ผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลานอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ถ้ามี ตาเข, มีสายตาผิดปกติที่ต่างกันในตา 2 ข้าง, หรือมีสายตาผิดปกติมากทั้ง 2 ข้าง ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์