สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การตรวจดูปริมาณและคุณภาพของฟิลม์น้ำตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

ฟิล์มน้ำตาที่ฉาบอยู่บนผิวตา มีความหนาประมาณ 7.2 ไมครอน เป็นที่ทราบกันดีว่าฟิล์มน้ำตาที่บาง นำไปสู่ภาวะตาแห้ง มีอาการไม่สบายตาต่างๆ แล้วหมอมีวิธีตรวจอย่างไร นอกจากสอบถามอาการของตาแห้งแล้ว ยังมีการตรวจจำนวนและคุณภาพของน้ำตาง่ายๆ ประกอบด้วย

  1. ดูความสูงของน้ำตาที่ฉาบบนผิวกระจกตาด้านล่างที่ติดกับขอบหนังตาล่างที่เรียกกันว่า Tear meniseus โดยปกติจะมีความสูงประมาณ 0.2 – 0.5 มม. เห็นได้ชัดขึ้น ถ้าหยอดสี fluorescein นำไปก่อน จะเห็นเป็นแอ่งน้ำตาสีเขียวเหมือนขอบตาล่าง คนปกติควรจะมีความสูงประมาณ 0.2 – 0.5 มม.
  2. วัดความคงตัวของฟิล์มน้ำตา (tear film break up time) ดูว่าฟิล์มน้ำตาที่ฉาบผิวตาดำว่าอยู่ได้นานเท่าใด ซึ่งจะเห็นได้ชัดโดยการใช้สารสีเขียว (fluorescein) หยดในน้ำตา ทำให้เห็นผิวฟิล์มน้ำตาสีเขียวฉาบผิวหน้าตาดำให้ผู้ป่วยกระพริบตาแล้วลืมตา จับเวลาจนกว่าพบจุดดำบนผิวตา ซึ่งแสดงว่าผิวบริเวณนั้นเริ่มแห้งไม่มีน้ำตาเป็นเวลาแสดงถึงความคงตัวอยู่ได้ โดยปกติจะมากกว่า 10 วินาที
  3. ตรวจวัดปริมาณน้ำตาด้วยกระดาษกรอง ซึ่งเริ่มทำโดย Schirmer จึงเรียกกันว่า Schirmer test โดยใช้กระดาษกรองมาตรฐานของ Whatman No 41 ที่มีขนาดกว้าง 5 มม. ยาว 35 มม. พับด้านยาว 5 มม. เพื่อสอดกระดาษกรองไปที่ร่องตาล่างค่อนมาทางหางตา จับเวลา 5 นาที ดูว่ากระดาษกรองเปียกเป็นความยาวเท่าไร ถ้าต้องการวัดเฉพาะ basic tear ให้หยอดยาชาก่อนสอดกระดาษกรอง ค่าปกติต้องมากกว่า 5 มม. ในกรณีต้องการวัดน้ำตาทั้งหมดทั้ง basic และ reflex tear ไม่ต้องหยอดยาชา ค่าปกติควรมากกว่า 10 มม.
  4. การตรวจดูการติดสีของผิวกระจกตาและเยื่อบุตาด้วยสารละลาย ซึ่งบางชนิดจะติดสีเซลล์ที่ตาย (ใช้แยกเซลล์ผิวที่ตาย) หรือเซลล์ที่หลุดหายไปด้วยสีต่างๆ ได้แก่ fluorescien , Lissamine Green , Rose bengal ซึ่งแปลผลว่า ตาแห้งมากจนมีการสูญเสียหรือหลุดลอกของเซลล์ผิว
  5. การวัดความเข้มข้นของน้ำตา (Tear osmolauty) เป็นการใช้เครื่องมือที่ยุ่งยาก แต่มีตัวเลข มีความจำเพาะ และมีความไวในการตรวจ (specificity and sensitivity) ถ้ามากกว่า 308 mOsmo / ลิตร ขึ้นไปบ่งว่าตาเริ่มแห้งแล้ว