สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ปวดตา ปวดศีรษะ (Eye pain and headache)

สาระน่ารู้จากหมอตา

อาการปวดศีรษะ เป็นที่ทราบกันดีที่ทำให้หมอปวดศีรษะไปด้วย เพราะอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งที่มีโรคทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นไข้ หรืออาจจะเกิดจากภาวะจิตใจมีความกังวล เครียด ซึ่งแน่นอน การตรวจร่างกายจะไม่พบอะไรผิดปกติ ที่สำคัญ ปวดศีรษะอาจเกิดโรคทางสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ตาเป็นอวัยวะที่อยู่บนศีรษะอาจเกิดโรคทำให้ปวดตาลามไปเป็นปวดศีรษะร่วมด้วย การรับความรู้สึกบริเวณดวงตา บริเวณเยื่อหุ้มสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ต่างก็ถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigeminal nerve) ดังนั้น การมีโรคทางสมองทำให้ปวดศีรษะอาจร้าวมาถึงบริเวณลูกตาได้ ในทางตรงข้าม โรคทางตาก็อาจร้าวไปทางศีรษะทำให้มีอาการทั้งปวดตาและปวดศีรษะได้เช่นกัน

ความผิดปกติหรือโรคทางตาที่ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยได้แก่ 1. เมื่อยล้าในตา (asthenopia) บางคนอาจมาด้วยอาการปวดศีรษะ ปวดตารอบ ๆ เบ้าตา หรือบางคนแค่รู้สึกเมื่อยล้า เพลีย มักจะมีอาการเมื่อใช้สายตามาก และมีอาการน้ำตาไหล การมองเห็นพร่าลงร่วมด้วย ในกลุ่มนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้สายตา หรือมีสายตาตลอดจนการทำงานร่วมกันของตาสองข้างผิดไป เช่น

1.1 ภาวะสายตาผิดปกติ ได้แก่สายตาสั้น เอียง ยาว ตลอดจนสายตาผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการแก้ไข

1.2 มีตาเขแบบซ่อนเร้น ซึ่งจะมีอาการปวดตาได้มากกว่าตาเขที่เห็นชัด ๆ ตาเขซ่อนเร้น มักอาศัยการเพ่ง เพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อตาเพื่อหลบภาพซ้อน จึงมีอาการปวดตาได้ง่าย

1.3 การทำงานของกล้ามเนื้อที่ทำให้ตาเบนเข้าของตาสองข้างผิดปกติ (convergence insufficient) กล่าวคือ เวลาเรามองใกล้ดวงตาทั้ง 2 ข้างจะหมุนเข้าหากันใช้ตาทั้ง 2 ข้างโฟกัสไปที่ตัวหนังสือ ในผู้ป่วยบางคน กล้ามเนื้อคู้นี้ทำงานได้ไม่ดี ไม่สามารถคงอยู่ได้นานพอหรือไม่เข้าหากัน เวลามองใกล้นาน ๆ จึงเกิดการเมื่อยล้า

1.4 การหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่ง เวลามองใกล้ กล้ามเนื้อ (ciliary muscle) ต้องเกร็งตัวเพื่อเพิ่มกำลังหักเหของแสง (accommodation reflex) ในผู้ป่วยบางราย กล้าเนื้อนี้ทำงานนาน จึงหดเกร็ง (ciliary spasm) ค้างอยู่ เป็นเหตุให้ปวดตาและอาจเกิดภาวะสายตาเทียม

1.5 ภาวะตาแห้งมักจะมีอาการปวดเมื่อยมากกว่าปวดศีรษะรุนแรง

ภาวะเมื่อยล้าตาในกลุ่มนี้ แก้ไข้ได้ด้วยการพักสายตา ใช้น้ำตาเทียม ฝึกกล้ามเนื้อตา ตลอดจนการให้ยาคลายกล้ามเนื้อเกร็ง (cycloplegic)

2. มีการอักเสบในลูกตาและบริเวณรอบๆลูกตา การอักเสบชนิดต่างๆ อาจเป็นการติดเชื้อ ภูมิแพ้ หรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ มักจะมีอาการแสดงเห็นชัดที่ตา เช่น

2.1 เปลือกตาและถุงน้ำตาอักเสบ จะพบเปลือกตาบวมแดงที่รอบ ๆ หนังตา

2.2 เยื่อบุตา กระจกตาอักเสบ อาจเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา กลุ่มนี้มักมีอาการ ตาแดง น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ พร่ามัว ตรวจพบการอักเสบหรือมีแผลชัดเจน โดยเฉพาะกระจกตาอักเสบ มักเจ็บปวดและเคืองตามาก

2.3 ตาขาวอักเสบ (scleritis) มักจะพบในผู้ป่วยที่มีโรค rheumatoid ร่วมด้วย

2.4 ม่านตาอักเสบ มักจะมีอาการปวดเบ้าตาลึก ๆ ร่วมกับตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้

2.5 เบ้าตาอักเสบ (orbital cellulitis)

3. ต้อหินเฉียบพลัน เนื่องจากความดันตาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มักจะมี่อาการปวดตา ปวดศีรษะซีกเดียว ร่วมกับอาเจียนและตามัวอย่างมาก เป็นภาวะที่ควรให้การรักษาทันที ทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดถาวรได้

4. โรคไมเกรน (migraine) ภาวะนี้เชื่อว่า เกิดจาการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณศีรษะ มีการหลั่งของสารเคมี ทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาทที่ 5 (trigeminal nerve) จึงเกิดอาการปวดศีรษะร่วมกับสายตามัวลง ลักษณะอาการและอาการแสดงของภาวะนี้อาจเป็น

4.1 ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า (without aura) มักพบปวดหลังตื่นนอน หรือขณะพักผ่อน จะปวดตุ้ม ๆ ไปครึ่งศีรษะ อาการปวดจะค่อย ๆมากขึ้นจนปวดไปทั่วศีรษะ

4.2 ชนิดที่มีอากรเตือนล่วงหน้า (with aura) ถือเป็น classic migraine มักพบอาการทางสมองหรือทางตานำมาก่อน อาการทางสมอง เช่น ง่วงหาวนอน ซึมเศร้า อาการผิดปกติของก้านสมอง หรืออัมพาตของกล้ามเนื้อกลอกตา อาการเตือนล่วงหน้าทางตาที่พบบ่อยก็คือ ตามัวร่วมกับมีแสงประกาย หรือแสงวูบวาบ (scintillating scotoma) เป็นแสงรูปเกือกม้าหยักไปมา ร่วมกับลานสายตาผิดปกติร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่นาน 20-40 นาที

4.3 Ophthalmic migraine มักพบในวัยรุ่นโดยมีอาการปวดศีรษะมาก่อนหลายวัน ตามด้วยอัมพาตของกล้ามเนื้อกลอกตา ส่วนมากเป็นกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่ 3 (oculomotor nerve) ภาวะนี้ต้องต้องวินิจแยกโรค กับ aneurysm ที่สมอง

4.4 Retinal migraine มีอาการตามัวคล้ายโรคของจอตาลักษณะคล้ายรูดม่าน มักเป็นชั่วครู่ในตาข้างเดียว อาจเห็นเป็นสีเทา ๆ ขาว ๆ หรือมืดไปเลย

4.5 ไมเกรนที่เป็นช่วง ๆ (cluster migraine) กล่าวกันว่า ชนิดนี้มาพบหมอตามากที่สุด มักจะปวดศีรษะร่วมกับปวดเบ้าตาข้างหนึ่ง ร่วมกับตาแดง น้ำตาไหล หนังตาตก รูม่านตาหดเล็ก มักเป็นตอนกลางคืนในผู้ชายสูงอายุ ปวดอยู่ประมาณ 20 นาที ทุกวัน โดยมีอาการเป็นช่วง ๆ ช่วงละประมาณ 6-12 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะหายไปเป็นเดือนหรือปี อาจเป็นซ้ำได้

5. นอกจากนี้ภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะขาดเลือดของเส้นประสาทตา (ischemic optic neuropathy) ภาวะ inflammatory optic neuropathy แม้แต่ภาวะเนื้อร้ายกระจายมายังเบ้าตา ก็อาจทำให้ปวดตา ปวดศีรษะได้