สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: เป็นกุ้งยิงต้องทำอย่างไร?

สาระน่ารู้จากหมอตา

แม่พาเด็กชายแดงมาตรวจตา เนื่องจากเปลือกตาบนของตาขวาเป็นตุ่มคล้ายหนอง หากถูกต้องจะรู้สึกเจ็บมาก เมื่อ 2 วันก่อนเป็นตุ่มขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นร่วมกับเจ็บตามากขึ้น ผลการตรวจพบว่าตุ่มดังกล่าวมีขนาดประมาณ 4 มม. เป็นหนองที่ชาวบ้านเรียกกันว่ากุ้งยิง จึงบอกแม่และเด็กไปว่าเป็นกุ้งยิง เด็กชายแดงย้อนถามว่าผมไม่ได้ไปแอบดูใครโป๊สักหน่อย ไม่ยอมรับการวินิจฉัย จึงต้องอธิบายว่ากุ้งยิงไม่ได้เกิดจากการไปแอบดูใคร แต่เป็นการอักเสบของต่อมบริเวณเปลือกตาซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายต่อม บางต่อมอยู่ใต้ผิวหนังตื้น ๆ กุ้งยิงจะชี้ออกนอก เรียกกันว่า external hordeolum บางต่อมที่อยู่ลึกไปหน่อย เป็นต่อม meibomian เรียกกันว่า internal hordeolum หรือ meibomian abscess

บางคนอาจจะเคยเป็นกุ้งยิง เป็นทีเดียวแล้วไม่เป็นอีก บางคนอาจเป็นแล้วเป็นอีก ผลัดกันระหว่างตาซ้าย ขวา หนังตาบน หรือล่าง เนื่องจากกุ้งยิงเป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมดังกล่าว มีปัจจัยเสี่ยงในบางคนต่าง ๆ ได้แก่

  1. การรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้า และเปลือกตา: หากปล่อยให้สกปรก เป็นเหตุให้เชื้อโรคหมักหมม เกิดการอักเสบ เด็กที่ชอบเอามือที่ไม่สะอาดขยี้ตาบ่อย ๆ คนทำงานที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยฝุ่นละออง เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่า คนโบราณที่พบว่าคนที่แอบดูคนอื่นมักจะเป็นกุ้งยิงขึ้น เข้าใจว่ามักจะเอาตาแนบไปกับฝาห้องหรือรูกุญแจแอบดู การแนบตากับสิ่งเหล่านี้ทำให้สิ่งสกปรกติดที่หน้าและเปลือกตา ก่อให้เกิดโรคในที่สุด
  2. มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง ทำให้เชื้อโรคฝังตัวที่ต่อมเปลือกตา
  3. การทำงานบางอย่างของต่อม meibomian ผิดปกติ (meibomian gland dysfunction,MGD) เกิดความผิดปกติทำให้สารคัดหลั่งจากต่อมไหลออกไม่สะดวก เกิดการอุดตัน นำมาซึ่งการอักเสบ
  4. บุคคลที่มีโรคผิวหนังที่บริเวณหน้า เป็นสิวง่าย ต่อมไขมันทั้งผิวหน้าและผิวที่เปลือกตาอุดตัน
  5. สุขภาพทั่ว ๆไปอ่อนแอ จากโรคเรื้อรัง หรือ ผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน โรคไต ได้รับการบำบัดด้วยยาสารเคมี ฯลฯ ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย
  6. มีข้อสังเกตจากจักษุแพทย์หลายท่าน พบว่าเด็กที่มีสายตาผิดปกติโดยไม่ได้รับการแก้ไข มักจะเป็นกุ้งยิงง่ายกว่าเด็กปกติ เชื่อว่าเมื่อสายตาผิดปกติ เด็กจะหรี่ตาเพื่อมองได้ชัดขึ้น การหรี่ตาบ่อย ๆ ทำให้ต่อมต่าง ๆ บริเวณเปลือกตาทำงานไม่ได้เต็มที่ เกิดการอุดตัน ติดเชื้อตามมา

การรักษากุ้งยิง:

  1. ในเบื้องต้น ให้ประคบบริเวณที่เป็นด้วยน้ำอุ่น เพื่อให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่อักเสบมากขึ้น เม็ดเลือดขาวจะมาช่วยกำจัดเชื้อได้เร็วขึ้น อีกทั้งความอุ่นจะช่วยละลายสารไขมันในต่อมให้ไหลออกมาได้ง่าย ขจัดการอุดตันออกไป
  2. ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ (ปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา)
  3. อาจพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วย
  4. บางรายเมื่อรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ดีขึ้น มีเม็ดกุ้งยิงชัดเจน อาจต้องรักษาโดยการกรีดหนองออกโดยจักษุแพทย์
  5. ที่สำคัญคือ ขจัดปัจจัยเสี่ยงข้างต้นเพื่อไม่ให้เกิดเป็นกุ้งยิงเรื้อรัง