สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: สายตาผู้สูงอายุ (1)

สาระน่ารู้จากหมอตา

คุณอนงค์ อายุ 40 ปี เป็นนักบัญชี ทำบัญชีให้บริษัทแห่งหนึ่งมาตั้งแต่อายุ 30 ปี งานที่ทำเกี่ยวกับตัวเลขมากมาย มาสัปดาห์นี้ คุณอนงค์แปลกใจมากที่พอตอนบ่าย จะมองหนังสือหรือทำบัญชีเห็นตัวเลขไม่ชัดเจน แรก ๆ ก็คิดว่าคงเป็นเพราะเหนื่อยล้าจากงาน อีก 2 วันต่อมายังรู้สึกปวดศีรษะ ปวดตาเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะเวลาใช้สายตามากๆ ทั้งๆที่ใช้คอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาที่ผิดปกติอยู่แล้ว คุณอนงค์มีสายตาสั้น ขวา 300 ซ้าย 200 มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และใช้คอนแทคเลนส์มาตลอดด้วยกำลังสายตาเท่าเดิม ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างดี และระยะนี้ก็ยังใช้คอนแทคเลนส์กำลังเท่าเดิมตลอด ยังขับรถมาทำงานหรือใช้สายตามองไกลได้เหมือนเดิม มีปัญหาเฉพาะมองหนังสือตอนบ่าย ๆ

เมื่อตรวจตาอย่างละเอียดแล้วพบว่า ลูกตาปกติ มีสายตาสั้น 300 และ 200 ถูกต้อง แต่กำลังเพ่งลดลงตามอายุ (โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40 ปี กำลังเพ่งจะลดลง) ทำให้อ่านหนังสือหรือมองใกล้ไม่ชัด ต้องเพ่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งพร่า ทั้งปวด และพาลมาปวดศีรษะด้วย นั่นคือคุณอนงค์ ขณะนี้มีสายตาสั้นและสายตาผู้สูงอายุ สายตาสั้นต้องแก้ด้วยเลนส์เว้า ซึ่งทางการแพทย์ และเพื่อความเข้าใจง่ายเป็นเลนส์ ลบ ส่วนสายตายาวต้องแก้ด้วยเลนส์นูน มีค่าเป็นบวก โดยทั่วไปค่าสายตาผู้สูงอายุในคนอายุ 40 ปี มักจะมีค่าประมาณ 100 ดังนั้น คุณอนงค์ ถ้าจะมองไกลได้ชัดควรใช้แว่นเดิม คือเลนส์เว้าขนาด 300 และ 200 แต่ถ้ามองใกล้ เนื่องจากมีสายตาผู้สูงอายุ 100 จึงควรใช้เลนส์เว้าขนาด 300 – 100 = 200 ในตาขวา และ 200 - 100 = 100 ในตาซ้าย ถึงจะอ่านหนังสือได้ชัดและสบายตา ในกรณีคุณอนงค์ ใช้คอนแทคเลนส์มองไกลประจำ เวลามองใกล้อาจจะทำแว่นเลนส์นูนขนาด 100 ใช้เวลาอ่านหนังสือก็ได้

ภาวะสายตาผู้สูงอายุ (presbyope) เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเกือบทุกคนก็ว่าได้ เมื่ออายุมากขึ้น (40 ปีขึ้นไป) ความสามารถในการเพ่ง (accommodation) เสื่อมลง กล่าวคือ เลนส์หรือแก้วตาคนเราตั้งแต่เกิดมาสามารถเพ่งให้เห็นภาพได้ชัดทุกระยะ แต่พออายุ 40 ปี การเพ่งเพื่อให้เห็นระยะตั้งแต่ 30 ซ.ม. ลงมาทำไม่ได้หรือต้องออกแรงเพ่งมาก ทำให้ปวดตา ปวดศีรษะได้ แต่ถ้าผู้สูงอายุไม่ได้มองใกล้ ๆ ไม่มีกิจกรรมมองใกล้ (อ่านหนังสือ เย็บผ้า) ก็อาจไม่ต้องใช้แว่นผู้สูงอายุ เพราะการมองไกลยังเห็นได้เหมือนเดิม

มีผู้เริ่มอายุ 40 ปีต้น ๆ เริ่มมีสายตาผู้สูงอายุบางราย มีอาการปวดตา ปวดศีรษะบ่อยๆ หลงไปรับการตรวจสมองอยู่หลายอย่างไม่พบโรคอะไร สุดท้ายมาหายด้วยการใช้แว่นผู้สูงอายุเท่านั้น