สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ภาวะพร่องเซลล์ต้นแบบของ limbus (Limbal stem cell deficiency)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ผิวตาของคนเรา (หมายถึง ผิวตาดำและผิวเยื่อบุตาหรือตาขาว) ประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุผิว (epithelium) คล้ายเซลล์ผิวของผิวหนัง เซลล์ผิวของผิวหนังมีการหลุดลอกไป (คล้ายขี้ไคล) ชั้นถัดไปหรือเซลล์ผิวข้างๆ จะเข้ามาแทนที่ ส่วนผิวตาของคนเรา โดยเฉพาะผิวของตาดำเมื่อหลุดลอกไปจะต้องมีเซลล์ผิวเกิดใหม่ ซึ่งเกิดมาจากเซลล์บริเวณ limbus (บริเวณตาขาวต่อตาดำ) ชั้นในสุด (basal layer of epithelium) แต่ผิวของตาขาว (conjunctival epithelium) หากสูญเสียหรือขาดหายจะมีการสร้างใหม่ด้วยเยื่อบุตาที่มีกระจายทั่วไป โดยสรุป คือ เซลล์ที่อยู่บริเวณตาขาวต่อตาดำ เรียกกันว่า เซลล์ต้นแบบหรือ limbal stem cell นั้น มีความสำคัญในการปรับให้ผิวตาดำที่มีการสูญเสียไป ให้คงสภาพเดิมด้วยการสร้างใหม่จากเซลล์ต้นแบบนี้

โดยสรุปตัว limbal stem cell มีความสำคัญตั้งแต่เป็นตัวกั้นมิให้หลอดเลือดจากเยื่อบุตารุกล้ำเข้าไปในตาดำ (corneal neovascularization) รวมทั้งกั้นมิให้เซลล์ต่างๆในเยื่อบุตารุกล้ำเข้าตาดำ เพราะเซลล์เหล่านั้นประกอบด้วย ทั้งหลอดเลือดและเซลล์ ถ้าเข้าตาดำจะทำให้ตาดำเป็นฝ้าขาว ไม่ใสดังที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังช่วยชดเชยเซลล์ผิวตาดำที่อาจหลุดลอกไปในบางสภาวะ รวมทั้งช่วยให้ผิวตาดำเรียบและส่งเสริมการสมานแผลบริเวณกระจกตา/ตาดำ กล่าวคือหากผู้ใดขาดซึ่ง limbal stem cell แล้วมีแผลที่กระจกตา การหายของแผลจะเชื่องช้ามาก บางครั้งแผลเริ่มติดดีก็มักหลุดลอกใหม่ (recusent erosion) โดยทั่วไปหาก limbal stem cell มีจำนวนอย่างน้อย 25 – 33% ถึงจะทำให้ผิวตาปกติ

อาการ

อาการของภาวะพร่องจำนวน limbal stem cell ประกอบด้วย

  1. แสบตา ไม่สบายตา เพราะว่าผิวตาไม่เรียบ น้ำตาบนผิวตาไม่สม่ำเสมอ
  2. มักจะมีผิวตาดำ/กระจกตาถลอก หรือหลุดลอกบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด เคืองตา น้ำตาไหล
  3. ตาพร่ามัว จากผิวตาที่ไม่เรียบ
  4. มีหลอดเลือดเข้ามาในกระจกตา (corneal neovascularization) ในภาวะตาปกติ กระจกตาจะต้องไม่มีหลอดเลือด
  5. การตรวจผิวตาดำโดยหยอดสาร fluorescein จะพบผิวตาดำเป็นคลื่นจากผิวที่ไม่เรียบ และบางรายอาจพบสี fluorescein ซึมลึกลงไปถึงชั้น stroma ของกระจกตา
  6. หากตรวจละเอียดถึงเซลล์ที่ผิวกระจกตาจะมี goblet cell และ conjuctival epitheliumด้วย ซึ่งควรมีเฉพาะที่เยื่อบุตาเท่านั้น

ทั้งนี้การพร่อง limbal stem cell มีได้ 2 แบบ

  1. เป็นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (primary) พบในโรคที่เป็นแต่กำเนิดต่างๆ เช่น ภาวะไร้ม่านตา (aniridea) ภาวะ sclerocornea, ectodermal dysplasia เป็นต้น
  2. มีสาเหตุชัดเจน (secondary) ได้แก่ การมีสารเคมีเข้าตา (chemical burn) , thermal burn, ผู้ใช้คอนแทคเลนส์, มีโรคเรื้อรังที่ทำลายและก่อให้เกิดแผลเป็นบริเวณเยื่อบุตา (chronic cicatricial conjunctivitis) เช่น โรคริดสีดวงตา, pemphigoid, ตลอดจนแพ้ยาขั้นรุนแรงแบบ Stevens – Johnson syndrome รวมไปถึงมีโรคที่เกิดเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณ limbus เช่น ต้อเนื้อ, เนื้องอกบริเวณ limbus เป็นต้น

การรักษา

โดยหลักการ การทดแทน limbal stem cell น่าจะเป็นการรักษาที่ถูกต้องที่สุด กล่าวคือในผู้ที่เป็นที่ตาข้างเดียว ซึ่งเกิดภาวะนี้เฉพาะที่ เช่น มีเนื้องอกบริเวณ limbus ทำลาย stem cell การชดเชยโดยการนำ limbal stem cell จากตาอีกข้างมาปลูกถ่าย ที่เรียกว่า การทำ limbal stem cell transplant หรือในรายเป็น 2 ตา แต่ตาข้างหนึ่งเป็นน้อยกว่าก็อาจใช้ stem cell ข้างดีมาปลูกถ่าย ให้ตาข้างเป็นมาก หรือในกรณีเป็นมากทั้ง 2 ตา อาจต้องใช้ limbus จากตาผู้บริจาคตามาชดเชย หลังผ่าตัดควรจะให้ยากดภูมิต้านทานด้วยอันจะทำให้การผ่าตัดได้ผลดีขึ้น