สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 6: หน่วยวัดความผิดปกติของสายตา

สารบัญ

สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง เกิดจากความไม่สมดุลของการหักเหของแสงของ กระจกตา และของ แก้วตา ต่อความยาวของลูกตา ทำให้แสงขนานผ่านกระจกตาและแก้วตา ไม่ไปโฟกัสที่ จอตา แต่อาจจะโฟกัสหน้าต่อจอตา (สายตาสั้น) หรือหลังต่อจอตา (สายตายาว) หรือแสงจากแนวตั้งและแนวนอนไปโฟกัสคนละจุดกันของจอตา (สายตาเอียง)

หน่วยในการวัดความสั้น ความเอียง หรือความยาวของสายตา ขึ้นกับว่าจำเป็นต้องใช้เลนส์แว่นตาชนิดใดมาแก้ไขเพื่อให้แสงขนานตกยังจอตาพอดี

ถ้าเป็นสายตาสั้นต้องใช้เลนส์ที่ไปหักลบ กำลังของกระจกตาและของแก้วตาลง เพื่อให้แสงขนานไปตกที่จอตา เลนส์ชนิดนี้ต้องเป็นเลนส์เว้าซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสงจะใช้เครื่องหมายเป็นลบ (-) ถ้าต้องใช้เลนส์เว้าขนาด 2 ไดออปเตอร์ (diopter ย่อว่า D) จึงจะช่วยให้แสงขนานไปตกที่จอตาได้ เรียกว่ามีสายตาสั้น -2.0 ไดออปเตอร์ ถ้าใช้เลนส์เว้ากำลังมากขึ้นก็เรียกว่า สายตาสั้นมาก เช่น -10.0 ไดออปเตอร์ กำลังน้อยๆ อาจเป็น -0.75 ไดออปเตอร์ ชาวบ้านมักจะไม่เรียกเป็นทศนิยม จึงเรียก -2.0 ว่า 200 , -0.75 ว่า 75 โดยตัดทศนิยมออกไป

สำหรับสายตายาว กำลังหักเหแสงของกระจกตาและ-v’แก้วตาน้อยเกินไป ต้องใช้เลนส์นูนซึ่งใช้เครื่องหมายบวก (+) มาช่วย เป็นสายตายาว +3.0 ไดออปเตอร์ หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ยาว 300 เช่นกัน สำหรับ สายตาผู้สูงอายุ ใช้แว่นตาเลนส์นูนเพื่อช่วยมองใกล้ ก็เรียกกันว่า สายตาสูงอายุ +2.0 ไดออปเตอร์ หรือ 200 เช่นเดียวกัน

สำหรับภาวะตาเอียง เป็นความไม่เท่ากันในแต่ละแนว โดยแนวกำลังสูงสุดและต่ำสุด มักตั้งฉากกัน คือ ห่างกัน 90 องศา และสายตาเอียงที่ปกติมักจะอยู่ในแนว 90 องศา หรือ 180 องศา (◦) ส่วนน้อยอาจเป็นมุมเฉียง องศาต่างๆ กัน เช่น 40 องศา หรือ 130 องศา กำลังของสายตาเอียงจึงต้องระบุมุมเอียงเป็นองศาไว้เสมอ เช่น -1.0 x 180° หมายความว่า สายตาสั้น 100 และสายตาเอียง เป็นมุมเอียงในแนว 180 องศา นั่นเอง