สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 8: เลเซอร์ที่รักษาโรคตา

มารู้จักแสงเลเซอร์ (Laser) ที่ใช้รักษาโรคตา คำว่า Laser ย่อมาจาก light amplification by stimulated emission of radiation ซึ่งแปลง่ายๆออกมาว่า จากต้นกำเนิดของพลังอันหนึ่งที่กระตุ้นอะตอมภายในตัวกลางที่กำลังตื่นตัว (อาจเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส) ก่อให้เกิดคลื่นแสงอันหนึ่ง หลังจากนั้นคลื่นแสงนี้จะถูกให้อยู่ในที่จำกัดให้สะท้อนไปมา เพื่อเพิ่มพลังให้มากขึ้นแล้วออกมาเป็นแสงเลเซอร์

แสงเลเซอร์จะเป็นแสงสีเดี่ยว (monochormatic) โดยอาจจะเป็นสีต่างๆที่เห็นได้ด้วยตาของเรา เช่น แดง (Krypton red) , เขียว (Argon green), น้ำเงิน (Argon blue) หรืออาจเป็นคลื่นแสงเดี่ยวที่มองไม่เห็นด้วยตาคนเรา เช่น excimer laser เป็น Argon fluoride (อยู่ในระดับคลื่นแสงของ ยูวี/UV หรือ Ultraviolet) หรือจะอยู่ระดับของ infrared เช่น Yag laser เป็นต้น แสงเลเซอร์จะเดินทางเป็นทางแคบๆ เรียกกันว่า directionality มุ่งไปในแนวเดียว ทำให้รวบรวมพลังแสงเข้าด้วยกันสามารถโฟกัสได้เป็นจุดที่แม่นยำ

ปฏิกิริยาของส่วนต่างๆ ของตาต่อแสงเลเซอร์มีระดับต่างกัน ได้แก่

  1. photocoagulation เริ่มมาจากการพบว่า ผู้จ้องมองดวงอาทิตย์ ดูสุริยคราส จะมีความร้อนจี้ไปยังบริเวณจอตา โดยที่จอตาเป็นอวัยวะที่มีเซลล์สีที่ดูดซับแสงจากดวงอาทิตย์ กลายเป็นความร้อนจี้บริเวณจอตานั้น ในทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้พลังเลเซอร์ ยิงไปยังส่วนของตาที่มีเซลล์สี เช่น จอตา ม่านตา ได้แก่ การรักษา โรคเบาหวานขึ้นตา จอตาฉีกขาด จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เนื้องอกบริเวณจอตา ตลอดจนการเจาะรูม่านตาในผู้ป่วยต้อหิน เป็นต้น
  2. photodisruption เป็นการใช้พลังเลเซอร์ที่สูง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะ ionization ของเนื้อเยื่อที่ต้องการรักษา ทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดคล้ายๆใช้กรรไกรเข้าไปตัด โดยไม่ต้องเปิดเป็นแผล ใช้แสงเลเซอร์นี้ผ่านกระจกตาเล็งไปยังเป้าหมาย เช่น การตัดเยื่อห่อหุ้มแก้วตาเทียม การตัดผังพืดในน้ำวุ้นตา
  3. photoablation เป็นการใช้แสงเลเซอร์ระดับ ยูวี ไปขัดหรือสลักผิวกระจกตา คล้ายๆ การแกะสลักผิวพลาสติก ด้วยขนาดของลำแสงเลเซอร์ชนิดนี้ที่เล็กมาก สามารถขัดผิวกระจกตาได้ในขนาดระดับไมครอน (micron) โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง ขอบของแผลที่ถูกตัดด้วยเลเซอร์นี้เรียบมากผิดกับที่ตัดด้วยมีด ได้แก่ Excimer laser ที่ใช้ในการแก้ไขสายตาผิดปกติทั้ง Lasik (Laser in situ keratomileusis) และ PRK (photorefractive keratectomy)

การรักษาตาด้วยแสงเลเซอร์เป็นการใช้แสงโฟกัสไปยังจุดเป้าหมาย โดยไม่มีแผล ไม่มีการเสียเลือด โดยทั่วไปจะไม่มีอาการเจ็บมากมายนัก หลังรักษา ไม่ต้องหยุดพักงาน สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย