สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: แว่นตาสำหรับเด็ก

สาระน่ารู้จากหมอตา

แว่นตา เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องรักษาดวงตาเพิ่มการมองเห็น ในบางครั้งอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก โดยทั่วไปแว่นตาที่ใช้ในเด็กมีข้อบ่งชี้ต่างๆ ได้แก่

  1. เพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น ในกรณีที่มีสายตาผิดปกติ
  2. ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะตาขี้เกียจ
  3. แก้ไขภาวะตาเหล่
  4. กระตุ้นให้เกิดการมองเห็นร่วมกันในตา 2 ข้าง (binocular vision)
  5. ภาวะอื่นๆ เช่น แว่นตาที่เป็นปริซึมแก้ไขเด็กที่เอียงคอ ในกรณีที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาที่ทำให้เด็กต้องเอียงคอหรือเงยหน้าเวลามอง การใช้แว่นปริซึมจะช่วยให้เด็กไม่เอียงคอ ศีรษะตั้งตรงเช่นคนปกติ ตลอดจนใส่แว่นป้องกันอันตรายในกรณีที่เด็กมีตาดีข้างเดียว เป็นต้น

  1. สายตาผิดปกติที่ต้องแก้ไข ได้แก่ เด็กที่มีภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของหมอที่จะแจ้งว่า ขนาดไหนควรหรือจำเป็นต้องใช้แว่นซึ่งอาจมีข้อแตกต่างจากผู้ใหญ่บ้าง เช่น ในเด็กอายุ 2 ปี หากมีสายตาสั้น 200 ทั้ง 2 ข้าง อาจยังไม่ต้องใส่แว่น แต่ในผู้ใหญ่ถ้าสั้น 200 ทั้ง 2 ข้าง จำเป็นต้องใส่ หรือในกรณีเด็กอายุ 2 ปี มีสายตายาว 200 ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องใช้แว่น เป็นต้น
  2. ป้องกันภาวะตาขี้เกียจ ที่เกิดจากสายตาผิดปกติมากทั้ง 2 ตา หรือสายตา 2 ข้างต่างกันมาก อาจทำให้ตาข้างที่ผิดปกติมากกว่าเกิดภาวะตาขี้เกียจ กรณีนี้จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้ไข
  3. ภาวะตาเข ตาเขมีด้วยกันหลายสาเหตุที่เป็นเพราะสายตาผิดปกติก็ควรแก้ไขสายตาด้วยแว่น เช่น
    1. เด็กที่มีสายตายาวปานกลาง ร่วมกับมีภาวะตาเขเข้าในที่เรียกว่า accommodative esotropia จำเป็นต้องแก้สายตายาวด้วยแว่น นอกจากเด็กจะเห็นดีขึ้น ตาก็จะหายเข
    2. เด็กบางคนแม้สายตาปกติดี แต่เวลามองใกล้จะเพ่งมาก ทำให้มีตาเขเข้าใน เวลามองใกล้ (high AC/A ratio) ควรให้แว่นชนิด bifocal
    3. เด็กที่มีสายตาสั้นหรือเอียงร่วมกับตาเขออก จำเป็นต้องแก้ไขสายตาสั้นหรือเอียงด้วยแว่น ในบางรายอาจต้องใส่แว่นสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริง (over correction) อันจะทำให้เด็กต้องเพ่ง ขณะตาคนเราเพ่งจะเขเข้าในเล็กน้อยเป็นการรักษาตาเขออกไปในตัว
    4. เด็กที่มีตาเขเล็กน้อย โดยที่สายตาปกติอาจทำแว่นด้วยเลนส์ที่เป็นปริซึมแก้ไขตาเขได้
  4. ภาวะอื่นๆ เช่น บางคนแนะนำใช้แว่นแบบ bifocal หรือ progressive เพื่อชะลอไม่ให้สายตาสั้นเร็วในเด็กที่มีตาสั้นมาก เร็ว คือ สายตาสั้นเพิ่มอย่างรวดเร็ว

ความร่วมมือของผู้ปกครอง

เมื่อเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้แว่นตา มารดาหรือผู้ปกครองจะต้องร่วมมือที่จะกระตุ้นให้เด็กยอมและใส่แว่นได้

  1. ผู้ปกครองต้องเข้าใจในรายละเอียดของความจำเป็น อย่าแสดงออกให้เด็กเห็นว่าไม่อยากให้ใส่ เช่น ถามหมอว่า “ไม่ใส่ไม่ได้หรือ” “ใส่แว่นแล้วไม่สวยเลย” “ตระกูลไม่เห็นมีใครต้องใส่แว่นในอายุขนาดนี้” “อย่างนี้มิต้องใส่แว่นตลอดชีวิตหรือ” คำพูดเหล่านี้เป็นเชิงลบให้เด็กซึมซาบว่า การใส่แว่นเป็นโรคหรือภาวะที่น่าเกลียดอย่างหนึ่ง อันจะทำให้เด็กไม่ยอมและไม่ใส่แว่น
  2. ควรจะพูดในเชิงบวก เช่น “ใส่แว่นแล้วดูสวยดี” “ดีนะใส่แว่น ฝุ่นจะได้ไม่เข้าตา ปลอดภัยกว่าไม่ใส่” และหากเด็กถามว่าทำไมเขาต้องใส่แว่น อย่าได้ตอบว่า เพราะหนูสายตาผิดปกติ หนูสายตาไม่ดี หนูเกิดมามีสายตาผิดปกติ เป็นต้น แต่ควรจะพูดว่า ถ้าหนูใส่แว่นจะทำให้หนูเห็นอะไรชัดเจนขึ้น โดยเน้นผลบวกที่จะได้ โดยไม่ไปพูดถึงความไม่ดีหรือความผิดปกติของเด็ก อันจะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีปมด้อย

การเลือกกรอบแว่นตาและเลนส์

ในเด็กควรเลือกกรอบฯที่ทำด้วย พลาสติก เพราะราคาถูกว่า ยืดหยุ่นได้ เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตขึ้น หากกรอบแว่นยืดหยุ่นได้ จะดีกว่า ส่วนกรอบที่ทำด้วยโลหะต้องคำนึงถึงส่วนต่างๆ เช่น แป้นบนดั้งจมูกจะต้องแตะพอดี ไม่กดมากไป เด็กมักจะสันจมูกแบน หากเลือกกรอบที่แป้นบนดั้งจมูกไม่พอดี กรอบแว่นเคลื่อนขึ้นลงได้มากเกินไป อาจจะหลุดหรือทำให้เด็กมองลอดแว่น เด็กเล็กมักจะมีใบหน้าอวบอิ่มอาจทำให้กรอบแว่นแตะหน้าทำความรำคาญ หรือมีรอยบริเวณที่แตะตลอดจนบริเวณดั้งจมูกที่รับแป้นได้ ซึ่งการเสียดสีบ่อยๆ หนักๆ อาจทำให้เกิดแผลบริเวณนั้นได้ อีกทั้งขาแว่นที่แนบไปกับขมับและเกี่ยวที่หูควรจะพอดี ขาแว่นควรเป็นแบบสปริง ขยับได้ดีไม่บีบขมับ

เลนส์แว่นตา ในเด็กควรใช้เป็นพลาสติก ห้ามใช้กระจกเพราะอาจมีการแตกหัก เมื่อเด็กวิ่งเล่นเป็นอันตรายได้