สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 17 กรกฎาคม 2557
- Tweet
ในปัจจุบัน ให้คำนิยามไว้ว่า “ต้อหิน” คือ โรคที่เกิดพยาธิสภาพที่ประสาทตา (optic neuropathy) โดยที่มีพื้นฐานจากการตายหรือสูญเสียของเซลล์ประสาทตา (retinal ganglion cell) ซึ่งอยู่ในชั้นจอตา (retina) เป็นเหตุให้มีการตายของชั้นเยื่อประสาทตา (nerve fibre layer) โดยเป็นไปอย่างช้าๆ (ยกเว้นต้อหินเฉียบพลัน) ทำให้เกิดช่องว่างหรือรอยหวำที่ขั้วประสาทตา ลักษณะที่เรียก cupping ถ้า nerve fibre ถูกทำลายมาก รอยหวำที่ว่านี้จะกว้างมากจนเต็มขั้วประสาทตา (full cupping) การสูญเสีย nerve fibre layer ทำให้สูญเสียลานสายตาเป็นหย่อมๆ และมีลักษณะเฉพาะของโรคไม่เหมือนโรคอื่น ซึ่งแพทย์ใช้เป็นตัววินิจฉัยโรคต้อหิน
อนึ่ง คำว่า glaucoma มาจากภาษากรีก หมายความว่า “ เทาปนฟ้า” เนื่องจากผู้ป่วยต้อหินถ้าเป็นนานๆ ทำให้กระจกตาที่ใสกลายเป็นขาวขุ่นออกสีเทาปนฟ้า แต่คนไทยมาเรียกว่า ต้อหิน คงเป็นที่เมื่อเป็นนานผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความดันตาสูงมาก ทำให้ดวงตาตึง คลำดูตาแข็งคล้ายหิน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีก้อนหินในตาแต่อย่างใด
การเกิดพยาธิสภาพของขั้วประสาทตาที่เรียกว่า ต้อหิน มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
- ความดันลูกตาสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความดันตาที่สูง (ค่าปกติประมาณไม่เกิน 18 มม.ปรอท) นอกจากความดันตาที่สูง บางคนยังศึกษาพบว่า ช่วงของความดันตาที่กว้างมากในหนึ่งวัน เช่น ต่ำสุดได้ 5 มม.ปรอท ขณะที่สูงสุดเป็น 15 มม.ปรอท เรียกว่า ช่วงความดันตา (IOP range) สูงถึง 10 มม.ปรอท (ค่าปกติมักไม่เกิน 8 มม.ปรอท) มีโอกาสเกิดต้อหินมาก อย่างไรก็ตาม การติดตามรักษาโรคต้อหิน เราจึงมักจะดูความดันตาเป็นหลัก เพราะจับต้องและวัดได้ง่าย
- ความผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขั้วประสาทเสียไป การตรวจภาวะนี้ ทำได้ยาก ได้แต่คาดเดาว่าถ้ามีความผิดปกติของหลอดเลือดทางกายจากโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ก็น่าจะมีการไหลเวียนของเลือดที่ขั้วประสาทตาลดลงด้วย
- อายุที่มากขึ้น จากสถิติพบโรคนี้ในผู้สูงอายุ อายุยิ่งมากอุบัติการณ์ยิ่งมากตามไปด้วย อายุที่มากคงตามด้วยความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่กรองน้ำในลูกตา (Trabecular meshwork) ที่เป็นรูพรุนๆ เกิดตีบขึ้นมา การไหลเวียนติดขัดเป็นเหตุให้ ความดันตาสูงขึ้น จึงควรรับการตรวจตาทุกปี เมื่ออายุมากขึ้นเพื่อคัดกรองภาวะต้อหิน
- เชื้อชาติและพันธุกรรม ด้วยอุบัติการณ์ของโรคที่แตกต่างกันในคนแต่ละเชื้อชาติ โดยพบในชาวอัฟริกามากกว่าเอเชีย และออสเตรเลีย อีกทั้งพบผู้ป่วยต้อหินในหมู่ญาติและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ โดยพบมากกว่าคนไม่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัวได้ 4 – 5 เท่า ปัจจุบันได้มีการศึกษาพบรหัสของ gene ที่เกี่ยวข้องกับโรคต้อหิน เป็น marker ของต้อหินในบางครอบครัว การศึกษามากขึ้นอาจทำให้เราทราบถึงวิธีการรักษาที่ดีขึ้นในอนาคต
- ประวัติอุบัติเหตุบริเวณดวงตามาก่อน หากเป็นขณะได้รับอุบัติเหตุมีความผิดปกติต่างๆ เช่น เลือดออกภายในดวงตา แก้วตาเคลื่อนที่ มีรอยช้ำบริเวณมุมตา ถือเป็นต้อหินที่ทราบสาเหตุ ชัดเจน แต่บางรายอุบัติเหตุนั้นนานมากแล้ว ไม่มีรอยช้ำเหลือให้ตรวจพบแต่กลับพบภาวะต้อหินขึ้น อุบัติเหตุเกิดนานจนลืม จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่ง
- ภาวะบางอย่างในตา เช่น มีการศึกษาพบว่าสายตาสั้นมากพบต้อหินได้มาก (บางการศึกษามีการขัดแย้ง) การใช้คอมพิวเตอร์มาก (ซึ่งไม่จริง) และผู้มีสายตายาวมักจะเกิดต้อหินมุมปิดได้มากซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะกายภาพที่ผิดไปของสายตายาว ทำให้ลูกตามีขนาดเล็ก ช่องหน้าตาแคบ จึงเกิดต้อหินเฉียบพลันได้
- การใช้ยาในกลุ่ม steroid ทำให้เกิดภาวะต้อหินขึ้น
- โรคทางกาย ผู้ป่วยที่มีภาวะ migraine โรคหลอดเลือด peripheral vasospasm ตลอดจนภาวะ sleep apnea พบต้อหินได้มากกว่าคนปกติ
ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น มาตรวจคัดกรองต้อหินกันเถอะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยการวัดความดันตา แม้เป็นภาวะที่ป้องกันไม่ได้เป็นส่วนมากแต่การตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้สามารถควบคุมมิให้ประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยที่อาจเรียกว่าโชคร้ายที่เป็นโรคนี้ แต่สามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที ทำให้มีสายตาที่ใช้การได้ตลอดชีวิต
พ.ญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต