สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 44: การเปลี่ยนกระจกตา (Penetrating keratoplasty)

การเปลี่ยนกระจกตา เป็นการนำกระจกตาของคนเสียชีวิตมาแทนที่กระจกตาที่ฝ้าขาวของผู้ป่วย เป็นการเปลี่ยนอวัยวะที่ทำบ่อยที่สุด (เทียบกับการเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ ) และได้ผลดีที่สุด ทั้งนี้เพราะกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือด ร่างกายจึงไม่ต่อต้านแม้เป็นอวัยวะของผู้อื่น กล่าวคือ หลอดเลือดของผู้ป่วยที่มายังอวัยวะที่เปลี่ยนจะนำเอาสารต้านภูมิจากอวัยวะที่ให้ เข้ากระแสเลือดก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน (rejection) ซึ่งมักพบในการเปลี่ยนอวัยวะอื่นในร่างกาย อีกทั้งในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่ดี ตาไม่ช้ำมาก มีกล้องช่วยผ่าตัด ไหมเย็บที่ดี ร่วมกับการมีสารที่ช่วยให้เก็บตาที่บริจาคให้อยู่ในสภาพที่ดีได้นานขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจึงได้ผลดีมากขึ้น

ข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนกระจกตา

  1. เพื่อการมองเห็น คิดเป็น 80-90% ของผู้ป่วย เนื่องจากกระจกตาผู้ป่วยเป็นฝ้าขาวบดบังทางเดินของแสง
  2. เพื่อการรักษา ประมาณ 17% ในกรณีกระจกตาทะลุจากการติดเชื้อ เพื่อขจัดกระจกตาที่ติดเชื้อมีเชื้อโรคอยู่ซึ่ง ยามิอาจฆ่าเชื้อได้ อาจเป็นเชื้อที่ดื้อยาหรือเชื้อที่ยังไม่มียาใช้ การตัดบริเวณที่ติดเชื้อออกจะขจัดเชื้อโรคออกไปได้ทันที
  3. การใช้กระจกตาปะกระจกตาที่ไม่ได้รูป หรือขาดหายไปจากอุบัติเหตุหรือเปื่อยไปจากเชื้อโรค (tectonic) พบประมาณ 3.5%
  4. เพื่อความสวยงาม ในกรณีที่กระจกตาของผู้ป่วยเสียรูป ปูดออกมา เป็นฝ้าขาวขรุขระ การเปลี่ยนเพื่อความสวยงามนี้ทำน้อยประมาณ 1.5%

ปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนกระจกตา

จากสถิติพบว่ากระจกตาที่เปลี่ยนยังคงความใสอยู่ได้ 2 ปี โดยเฉลี่ย 78% (56 – 96%) เมื่อเวลาผ่านไปจะคงความใสใน 5 ปี 64% (36 – 93%) โดยความคงใสอยู่ได้ขึ้นกับ

  1. ปัจจัยทั่วไป มีหลายรายงานพบว่าผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี เพศชาย มักจะเกิดความขุ่นของ graft/กระจกตาผู้บริจาค ได้บ่อยกว่า หรือผลสำเร็จในการเปลี่ยนฯน้อยกว่า
  2. ขึ้นกับภาวะกระจกตาของผู้ป่วย จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีกระจกตามีความหนาปกติ ไม่มีหลอดเลือดเข้ามาในกระจกตา ตาไม่แห้ง ไม่มีการอักเสบขณะผ่าตัด ผู้ป่วยโรค keratoconus/กระจกตารูปกรวย เป็นภาวะที่เปลี่ยนกระจกตาได้ผลดีที่สุด (กว่า 90%) ตามด้วยโรค dystrophy ของกระจกตา เช่น granular dystrophy , Fuch’s dystrophy แต่ในผู้ป่วยที่มีความดันตาสูง หรือผู้ป่วยที่มี peripheral anterior synechial ตลอดจนการทำผ่าตัดด้วย graft ขนาดใหญ่จะได้ผลไม่ดีนัก
  3. ตาของผู้บริจาค ควรจะมี endothelium ประมาณ 2,400 / มม2 และต้องมีรูปร่าง hexagonal จำนวนมากกล่าวคือ มี polymegatism และ pleomorphism น้อย อายุของผู้บริจาคไม่ควรน้อยกว่า 2 ปีครึ่ง เพราะคนอายุน้อย กระจกตาจะบางและโค้งมากการหยิบจับทำได้ยาก มักก่อให้เกิดสายตาสั้นมากหลังผ่าตัด

    สำหรับตาบริจาคที่อายุมากกว่า 70 ปี มักจะมี endothelium น้อยเกินไป อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงสาเหตุการตายชองผู้บริจาค (บางโรคสามารถถ่ายทอดได้ไม่ควรใช้ เช่น โรคมะเร็ง) ระยะเวลาในการเอาตาออกจากศพ ตลอดจนการเก็บตาอย่างไร ระยะเวลาที่ตายจนถึงเอาตาออกยิ่งน้อยยิ่งดี ควรจะเท่ากับหรือน้อยกว่า 8 ชม. (บางคนให้ไว้ไม่เกิน 12 – 18 ชม.) ระยะเวลาที่เสียชีวิตและอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีผลต่อ cell endothelium ถ้าศพอยู่ในอุณหภูมิ 4 - 8৹ C ตัว endothelium จะอยู่รอดได้นานกว่า ก่อนจะควักตาออก ศพควรจะให้ศีรษะอยู่สูงกว่าระดับอก ปิดเปลือกตาให้สนิท ควรให้ตาอยู่ในอุณหภูมิต่ำโดยวาง icepack ไว้ตลอดเมื่อนำตาออกจากศพ

  4. เทคนิคการผ่าตัด เลือกขนาดที่เหมาะสม
  5. การดูแลหลังผ่าตัดที่ดี พิจารณาให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อ และยาสเตียรอยด์ ป้องกันการ rejection ตามความเหมาะสม รวมทั้งการ ติดตามตรวจภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและแก้ไขรักษาได้ทัน