สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 27: การปรับให้เข้าสู่ภาวะสายตาปกติ (Emmetropization)

ตาคนเราแม้อยู่ในครรภ์ครบกำหนด เมื่อคลอดออกมามีอวัยวะภายในลูกตาครบทุกส่วนก็ตาม ลูกตายังจะไม่อยู่อย่างนั้น แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งกายภาพและการทำงานตามหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะสายตา จากเด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงจะมากในอายุขวบปีแรก โดยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดความยาวลูกตาจากขนาด 15 – 17 มม. ไปเป็น 23 มม. ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาและของแก้วตาให้ได้สมดุลกับความยาวของลูกตา เพื่อให้มีสายตาที่ปกติ ซึ่งหมายถึงแสงจากวัตถุที่อยู่ห่างตั้งแต่ 20 ฟุต ขึ้นไป ผ่านกระจกตาและแก้วตาจะมาโฟกัสที่ส่วนหลังของลูกตาพอดี กระบวนการนี้เรียกว่า emmetropization มาจากคำว่า emmetrope ซึ่งแปลว่าสายตาปกติไม่สั้น ไม่ยาว ไม่เอียง กล่าวคือในเด็กครบกำหนดแรกเกิด จะมีภาวะสายตายาว (hyperope) เป็นส่วนใหญ่ โดยแสงจากวัตถุห่าง 20 ฟุต ผ่านกระจกตาและแก้วตา จะไปโฟกัสหลังจอตา หลังจากนั้นความยาวของตาจะมากขึ้นร่วมกับกระจกตาและแก้วตาเปลี่ยนกำลังหักเหของแสง เพื่อให้แสงจากวัตถุไกล 20 ฟุต มาโฟกัสที่จอตาพอดี ซึ่งกระบวนการนี้เชื่อว่ามีอิทธิพลที่แน่นอน คือ -จากกรรมพันธุ์ -เชื้อชาติ (เหตุของสายตาสั้น) และที่อาจเป็นปัจจัยร่วม ได้แก่ -การใช้สายตา โดยภาวะสายตายาวจะลดลงจนมาสู่สายตาปกติ ในอายุประมาณ 15 ปี จึงเชื่อกันว่า หากพบภาวะสายตาสั้นในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เด็กนั้นน่าจะมีสายตาสั้นมากกว่า 6 D (ไดออปเตอร์) ขึ้นไป

การปรับตัวเพื่อเข้าสู่สายตาปกติทำได้โดย

  • ขนาดลูกตาซึ่งยาวขึ้นจาก 15 – 17 มม. มาเป็น 23 มม. โดยมีการเปลี่ยนแปลง 3 ช่วงตอนของอายุ ตอนแรกในอายุ 6 เดือนแรก ตาจะยาวเพิ่มขึ้น 4 มม. ระยะที่ 2 จาก 6 เดือน ไปถึงอายุ 2 – 5 ปี จะมีขนาดลูกตายาวเพิ่ม 1 มม. และไปจนถึงอายุ 13 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1 มม. จนขนาดเท่าผู้ใหญ่
  • กระจกตาแบนลง จากแรกเกิดมีความโค้งมากโดยมีกำลังหักเห +52D จะแบนลงเหลือกำลังหักเห +46D เมื่ออายุ 6 เดือน และจะแบนลงจนเป็น +42 ถึง + 44D ที่เป็นขนาดของตาผู้ใหญ่ทั่วไปตอนอายุ 12 ปี
  • การลดกำลังของแก้วตาในเด็กแรกเกิด แก้วตาค่อนข้างจะมีรูปทรงกลมและมีกำลัง 37 D -ภายใน 2 ขวบแรก รูปร่างจะแบนลงและกำลังแก้วตาจะลดมาถึง 23 D -ประมาณ 20 D เมื่ออายุ 6 ขวบ -และเท่าผู้ใหญ่โดยมีกำลังประมาณ 18 – 19 D เมื่ออายุ 19 – 20 ปี

กล่าวโดยรวมในเด็กครบกำหนด แรกเกิดจะมีภาวะสายตายาวเฉลี่ยประมาณ +2D และจะยาวมากขึ้นเล็กน้อยประมาณ +3 ถึง +4D เมื่ออายุ 7 ปี หลังจากนั้นสายตายาวเริ่มลดลงและเข้าสู่ภาวะสายตาปกติในอายุ 15 – 16 ปี

อนึ่ง ในเด็กเล็ก มักจะมีสายตาเอียงร่วมด้วย จากความโค้งของกระจกในแนวตั้งและแนวนอนไม่เท่ากัน แต่ภาวะสายตาเอียง จะค่อยๆลดลงและหายไปหรือเหลือเล็กน้อยในคนปกติ ในคนที่สายตาสั้นทั่วๆไป มักพบในอายุใกล้ๆ 15 ปี แต่ถ้าพบสายตาสั้นในอายุน้อย มักจะมีสายตาสั้นมากเมื่อโตขึ้น