สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 21: กล้ามเนื้อรอบตากระตุก

กล้ามเนื้อที่ใช้ปิดตาหรือหลับตาเรียงอยู่รอบๆใต้ผิวหนังของเปลือกตา/หนังตาบนและล่างที่มีชื่อว่า orbicularis ในบางครั้งเกิดการทำงานผิดปกติ โดยไม่อยู่ในความควบคุมของเรา เกิดขึ้นเองโดยบังคับไม่ได้ ถือเป็นการทำงานมากเกินไปของกล้ามเนื้อมัดนี้หรือของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ที่มาควบคุมกล้ามเนื้อมัดนี้ มีหลายลักษณะ ได้แก่

  1. เป็นเฉพาะที่หนังตา (lid myokymia) เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาบนหรือล่างแบบยิบๆ ต่อเนื่อง มักจะเป็นข้างเดียวเป็นเฉพาะที่เปลือกตาไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มักจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
  2. เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อหน้า อาจเรียกว่า facial TIC (facial myokymia) เป็นการกระตุ้นของทั้งกล้ามเนื้อรอบตาและกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณใกล้เคียง จะเป็นการกระตุกถี่ๆ ต่อเนื่อง ควบคุมไม่ได้ ถ้าพบในเด็กเชื่อว่าเป็นเรื่องของจิตใจ บ้างก็ว่าเด็กที่เรียกร้องความสนใจ หรือเลียนแบบเพื่อน ส่วนใหญ่หายได้เอง ส่วนน้อยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของการทำงานเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 จากโรคของสมองบริเวณสมองที่เรียกว่าPons ในเด็ก ตลอดจนในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(multiple sclerosis)ในผู้ใหญ่ บางรายอาจหายได้ด้วยการใช้ยาในกลุ่มควบคุมประสาท บางรายหายได้เองในเวลาต่อมา
  3. Hemi facial spasm เป็นการกระตุกครึ่งหน้า โดยควบคุมไม่ได้ ครั้งแรกอาจเป็นเวลาสั้นแค่วินาทีไปจนถึงนาที เป็นบางครั้ง แต่อาจอยู่นานเป็นปี มีอาการแม้ตอนหลับ อาการนี้บางรายเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 บริเวณสมองที่เรียกว่า cerebellopontine angle เนื่องจากมีความผิดปกติของหลอดเลือด หรืออาจเป็นเนื้องอก บริเวณดังกล่าวไปกดเส้นประสาทที่ 7 ในบางรายอาจเกิดจากเส้นประสาทที่ 7 ได้รับอันตรายมาก่อน การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยยาควบคุมระบบประสาทบางตัว การฉีด botulinum toxin (มักจะใช้ยาขนาดต่ำกว่าโรคblepharospasm) แต่ต้องมีการฉีดซ้ำเป็นระยะๆ ในบางรายที่เป็นมากอาจพิจารณาการผ่าตัดสมองเพื่อแยกหลอดเลือดไม่ให้กดทับเส้นประสาทที่ 7 ซึ่งแน่นอนต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดจึงทำกันไม่มาก
  4. Essential blepharospasm เป็นการทำงานมากเกินไปของกล้ามเนื้อรอบตาorbicularis ทั้ง 2 ข้าง มักพบในคนอายุ 40 – 60 ปี ตอนแรกๆ อาจจะกระตุกเล็กน้อย นานๆ ครั้ง เป็นบ่อยขึ้นๆ และรุนแรงมากจนเกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน กล่าวคืออาจจะมีบีบตา บีบกล้ามเนื้อ รอบๆ ตา จนตาหลับสนิทมองไม่เห็น ผู้ป่วยบางรายมีอาการมากแม้เดินข้ามถนนยังหลับตาจนมองไม่เห็นทาง ทำหน้าบูดเบี้ยวหรือบางรายมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อลามไปถึงบริเวณคอและแขนด้วย สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อว่ามีการทำงานผิดปกติของสมองส่วน basal ganglia ความเครียดทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงขึ้น การเกิดภาวะนี้จะต้องตรวจหาสาเหตุต่างๆ ที่อาจทำให้มีการกระตุกแบบนี้ ได้แก่ กลุ่มที่มีภาวะตาแห้งมาก มีการอักเสบภายในดวงตา ตลอดจนมีความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมองก่อนเสมอ

    การรักษาด้วยยาควบคุมระบบประสาทมีรายงานว่าพอได้ผลบ้างในระยะหลัง หันมาใช้การฉีด botulinum toxin เพื่อลดการทำงานของ orbicularis muscle แต่ยาอยู่ได้ 2 – 3 เดือนต้องฉีดซ้ำ บางรายอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดลดการทำงานของเส้นประสาทที่ 7 ผ่าตัดกล้ามเนื้อ orbiculuinออกโดยตรง ซึ่งได้ผลเล็กน้อยหรืออาจได้ผลน้อยกว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจึงไม่ค่อยนิยมทำกัน

  5. Habit spasm มักพบในเด็กมีการกระตุกซ้ำๆ มีรูปแบบสม่ำเสมอ เป็นการกระพริบติดเป็นนิสัยบางครั้งอาจหยุดได้ถ้ามีคำสั่ง มักจะค่อยๆ หายได้เองในที่สุด
  6. reflex blepharospasmเนื่องจากมีการกระตุ้นของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 จากภาวะผิดปกติในตาบางอย่าง เช่น ตาแห้งมาก มีการอักเสบภายในดวงตา ภาวะนี้อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อรอบตาและบีบตาแน่นได้ คล้ายที่พบใน essential blepharospasmได้ การรักษาภาวะต้นเหตุให้ดีขึ้นอาการต่างๆ ก็จะหายไปเอง