สารฟอกขาว ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (ตอนที่ 1)

สารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยนิยมใช้ตะเกียบสำหรับอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว โดยตะเกียบอาจทำมาจากไม้ โลหะ หรือพลาสติก แต่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นตะเกียบไม้ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาทำตะเกียบ คือ ไม้ไผ่ ไม้โมกข์ และ ไม้ฉำฉา เนื่องจากมีสีขาว เนื้อละเอียด ไม่ทำให้อาหารมี สี กลิ่น รส ผิดเพี้ยนไป แต่อาจมีการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกเนื้อไม้ให้ขาวและป้องกันเชื้อรา

ปัจจุบันร้านอาหารนิยมใช้ตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อความสะดวก สุขอนามัยที่ดี และป้องกันเชื้อโรคติดต่อระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม เคยมีข่าวที่ไต้หวันตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในตะเกียบเกินค่า มาตรฐาน ซึ่งไต้หวันได้กำหนดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์” หรือที่รู้จักกันว่า “สารฟอกขาว” มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนในกระบวนการผลิต และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ ยีสต์ ราและบักเตรีได้ดี

เราสามารถนำสารนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอาหาร ผักผลไม้อบแห้ง วุ้นเส้น และ ลูกกวาด นอกจากนี้ ยังใช้สารนี้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น นำไปใช้ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษและสบู่ เป็นต้น

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณต่ำ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่จะมีผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือคนที่แพ้ง่าย โดยจะมีอาการทันที ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้ตะเกียบในการบริโภคอาหาร จึงควรสังเกตหากพบว่าตะเกียบมีเนื้อไม้ขาวจัดและมีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรใช้ หรืออาจไปใช้ตะเกียบแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถล้างให้สะอาดได้ก่อนใช้

ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แพ้ง่าย เช่น ทำให้เกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก คันคอ หรือเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพอง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับหรือค่า ADI ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน

นพ.อภิชัย กล่าวถึงการสุ่มตรวจว่า ในปี พ.ศ.2550 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มตรวจตะเกียบไม้ 8 ตัวอย่าง และไม้จิ้มฟัน 2 ตัวอย่าง ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบทั้ง 8 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 19.4- 256.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไม้จิ้มฟันตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 4.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ นพ.อภิชัย ยังกล่าวถึงการทดสอบการละลายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ออกมาจากตะเกียบ โดยการนำมาแช่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 5 นาที แล้วนำน้ำมาตรวจวิเคราะห์ พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ละลายออกมาอยู่ในช่วง 2-91.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในตะเกียบ แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายของไต้หวันพบว่าปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐาน

แหล่งข้อมูล

1. ระวัง! สารฟอกขาวใน “ตะเกียบไม้” คนแพ้ง่ายเสี่ยงโรคหืด แน่นหน้าอก. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000033697&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, June 23].